ใช้สติคุมเงิน ลดฟุ่มเฟือยได้แน่ ๆ

adminfinbook

? รู้ทันความคิด ใช้สติคุมเงิน ?

หลายคนเริ่มชีวิตวัยทำงานด้วยความคิดที่ว่า “หลังจากนี้จะเริ่มต้นเก็บเงินเพื่ออนาคต” “เริ่มต้นออมเงินทีละน้อย แล้วค่อย ๆ ออมให้เยอะขึ้น จากนั้นเราก็จะกลายเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุไม่เกิน 30” ?

การตั้งเป้าหมายที่จะเก็บเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างที่หลายคนคงทราบดีอยู่แล้ว…ว่ามีน้อยคนที่จะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ บางคนก็เก็บเงินได้ แต่เก็บได้ไม่มากอย่างที่ตั้งใจ บางคนเดือนชนเดือน หามาได้เท่าไรก็หายหมด หรือบางคนรายรับรายจ่ายยังคงติดลบตัวแดงทุกเดือน ผลาญเงินเก็บของตัวเองไปเรื่อย ๆ ยังเริ่มเก็บเงินไม่ได้เลย

ข่าวดีก็คือ ความสามารถในการเก็บเงินมันไม่ได้ติดมากับพันธุกรรม มันไม่ใช่เรื่องที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่แรกว่าคนนี้คือคนที่เก็บเงินอยู่และจะรวยในอนาคต คนนี้คือคนที่เสพติดการใช้เงินและคงยากจนไปตลอดชีวิต มันไม่ใช่แบบนั้น ความสามารถในการเก็บเงินเป็นเรื่องที่ “ทุกคน” สามารถฝึกฝนได้ เพียงแต่ว่าเราต้องหัดฟังสิ่งที่สมองบอกให้น้อยลงซักหน่อยก็เท่านั้น

? พฤติกรรมใช้เงินฟุ่มเฟือย

ใคร ๆ ก็ชอบพูดว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม จริง ๆ แล้วทุกวันนี้เรากำลังใช้เงินซื้อความสุขอยู่ และเป็น “ความสุขแบบเร่งด่วน (instant gratification)” ซะด้วย อยากกินอะไรหวาน ๆ ก็เดินออกไปซื้อชานมไข่มุก กินเข้าไปมีความสุขทันที เครียดจากงาน ก็ไปช็อปปิ้งซื้อของ ได้จ่ายเงินออกไปก็มีความสุขทันที (หรือบางคนเครียดก็ไปจบที่ชานมไข่มุกเหมือนเดิม)

ข้อดีของความสุขแบบเร่งด่วน คือ มันให้ความสุขกับเราได้อย่างรวดเร็ว ส่วนข้อเสียก็คือ ความต้องการส่วนนี้มันไม่มีที่สิ้นสุด เราไม่ได้กินอาหารอร่อย ๆ แค่ครั้งเดียวแล้วจะไม่อยากกินอีกเลยตลอดชีวิต อะไรที่ให้ความสุขกับเรา เราก็จะอยากทำมันอยู่เรื่อย ๆ นั่นแหละ

แล้วเราต้องทำอย่างไร ในเมื่อเราเปลี่ยนสมองไม่ได้ ?

จริงอยู่ที่เราไม่สามารถกำจัดความอยากซื้อนู่นซื้อนี่ออกไปจากสมองได้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน สมองจะบอกให้เราไล่ตามความสุขอยู่เสมอ แต่สิ่งที่เราทำได้ถ้าอยากให้ชีวิตดีขึ้น คือ เราต้องมีสติ แยก “สิ่งที่ทำให้มีความสุข” กับ “สิ่งที่จำเป็น” ออกจากกันให้ได้

นี่คือเรื่องที่คนถูกสมองของตัวเองหลอกอยู่บ่อย ๆ เราชอบคิดว่าอะไรที่ให้ความสุขกับเรา คือสิ่งจำเป็นในชีวิต เราขาดมันไปไม่ได้หรอก ขาดไปแล้วต้องอยู่ไม่ได้แน่ ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่เป็นความจริงเลย มันเป็นแค่การล่อลวงของสมองที่หลอกให้เราทำนู่นทำนี่ตามสัญชาตญาณยุคดึกดำบรรพ์แค่นั้นเอง ความจริงแล้วถึงเราขาดมันไปเราก็อยู่ได้ แถมอาจจะอยู่ได้ดีกว่าเดิมด้วย เพราะหลายครั้งสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข มันไม่ได้มีประโยชน์กับเราเสมอไป การกินของอร่อยให้ความสุข แต่อาจจะไม่ได้ดีต่อสุขภาพ การดูซีรีส์ให้ความสุข แต่อาจจะทำให้เสียการเสียงาน การซื้อของเยอะ ๆ ให้ความสุข แต่อาจจะทำให้เราไม่มีเงินเก็บและลำบากในอนาคต

ถ้าเรามีสติ แล้วแยกแยะได้ว่าสิ่งที่เรากำลังอยากอยู่ตอนนี้ มันจำเป็นกับเราจริง ๆ หรือเป็นแค่การไล่ตามความสุขระยะสั้น เราก็จะสามารถควบคุมชีวิตของเราได้ดีขึ้น รวมถึงเรื่องการเงินของเราก็จะดีขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะเราได้เปลี่ยนจากการมองหาความสุขแบบเร่งด่วน (instant gratification) ให้กลายเป็นการมองหาความสุขในระยะยาว (delayed gratification) เรียบร้อยแล้ว

? สรุป ?

ถ้าเราอยากประหยัดขึ้น ไม่อยากใช้เงินเยอะเกินความจำเป็น เราต้องรู้ทันความคิดตัวเองอยู่เสมอ ช่วงแรกการหักห้ามใจอาจจะทำได้ยาก แต่ถ้าฝึกทำให้ได้บ่อย ๆ เราก็จะหักห้ามใจได้ง่ายขึ้น ทุกครั้งที่เกิด “ความอยาก” ลองถามตัวเองดูว่า สิ่งที่เรากำลังจะจ่ายเงินซื้อมันมีประโยชน์กับเราจริง ๆ หรือไม่ มันจำเป็นกับเราจริง ๆ หรือไม่ หรือมันแค่ความสุขชั่วคราวและกำลังจะส่งผลร้ายในอนาคต อย่าลืมว่า “สิ่งที่ให้ความสุข” ไม่ใช่ “สิ่งที่จำเป็น” เสมอไป ถ้าอยากเก็บเงินให้ได้เยอะขึ้น อย่าเชื่อสมองของตัวเองมากนะคะ ?