เคล็ดลับการเงินสำหรับคู่รักมือใหม่

adminpersonalfin

เคล็ดลับการเงินสำหรับคู่รักมือใหม่ ?

สวัสดีเพื่อนทุกคนนะคะ วันนี้ “well-wisher” มีเคล็ดลับการเงินง่ายๆ สำหรับคู่รักมือใหม่ ที่เพื่อนอาจนำไปประยุกต์ใช้กันได้ค่ะ

1. คุยเรื่องเป้าหมายทางการเงินและความทรงจำวัยเด็ก ?

สิ่งที่คุณควรพูดคุยกันคือ เป้าหมายการเงินที่อยากมีร่วมกันในอนาคตค่ะ วิธีช่วยให้การวางเป้าหมายทำได้ง่ายขึ้นคือ การลองนึกถึงความทรงจำในวัยเด็กเกี่ยวกับครอบครัวและพ่อแม่ของคุณ ว่าการเงินของครอบครัวที่คุณโตขึ้นนั้นเป็นอย่างไร พ่อแม่วางแผนการเงินอย่างไร เวลาจะจ่ายเงินค่าบิลต่างๆที พ่อแม่มีความเครียดหรือไม่ พ่อแม่เคยมีการทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่องการเงินหรือไม่ นอกจากนี้ ที่ควรคุยอีกเรื่องคือ นิสัยการเงินในปัจจุบันของคุณและคู่รักค่ะ คุณเป็นประเภทใช้เงินเดือนชนเดือน หรือเป็นคนเก็บเงินดีมาโดยตลอด การนำประสบการณ์ในวัยเด็กจากการสังเกตเรื่องเงินๆ ทองๆ ของพ่อแม่ มารวมกับนิสัยการเงินของคุณและคู่รัก จะช่วยให้การวางแผนการเงินในแบบของคุณเองง่ายขึ้นค่ะ ไม่ว่าจะเป็นแผนการเงินระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว

2. คุยกันเรื่องตัวเลข ?

ความซื่อสัตย์คือรากฐานสำคัญของการเป็นครอบครัวค่ะ ซึ่งเรื่องเงินๆ ทองๆ ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่งงานกันแล้ว คุณต้องเปิดเผยทุกเรื่องให้คู่รักของคุณรู้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ทั้งรายได้และที่มา เงินออม กองทุนเกษียณ อสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้หนี้สินก็เป็นเรื่องที่สำคัญ คุณมีหนี้สินอะไรบ้าง รวมไปถึงการเช็คประวัติเครดิตค่ะ เพราะหากคุณทั้งคู่ตีแผ่ทุกเรื่องดังกล่าวแล้ว คุณจะรู้ว่าทรัพย์สินสุทธิหลังจากหักหนี้สินออกไปแล้วมีเท่าไหร่ และจะวางแผนการเงินต่อไปได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

3. ตั้งงบประมาณ ?

งบประมาณรายรับรายจ่ายต่อเดือนคือสิ่งที่คุณต้องจดบันทึกค่ะ เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าต่อเดือนคุณมีรายได้เท่าไหร่ และจ่ายอะไรออกไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าพักผ่อนหย่อนใจ เงินใช้หนี้ต่างๆ ซึ่งหากคุณยังไม่รู้ ไม่ชัวร์ ควรลองติดตามการใช้จ่ายราว 1-2 เดือน หลังจากนี้คุณจะรู้ และสามารถวางแผนงบประมาณสำหรับเดือนถัดไปได้ง่ายค่ะ

ส่วนการจัดสรรงบประมาณที่เป็นที่แนะนำจากผู้เชี่ยวชาญนั้น หากคิดรายได้ออกมาเป็น 100% คุณควรแบ่ง 20% ออกมาทันทีเป็นเงินออม (แยกเป็น 10% เป็นเงินกองทุนฉุกเฉิน และ 10% เป็นกองทุนเพื่อการเกษียณ) และ 80% เป็นเงินที่ใช้จ่ายในบ้านค่ะ ซึ่งหากคุณมีเงินที่ต้องใช้จ่ายเกิน 80% คุณควรหาช่องทางลดทอนรายจ่ายต่อเดือน อาทิ เช่น ทานข้าวนอกบ้านให้น้อยลง ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างฟิตเนสหรือเคเบิลทีวี ที่คุณไม่ค่อยได้ใช้ เป็นต้น นอกจากนี้ หากคุณเป็นคนที่มีหนี้สิน คุณควรแบ่ง 10% ไปจ่ายหนี้สิน และจะทำให้เงินที่ใช้จ่ายรายเดือนควรเหลือเพียง 70% เท่านั้นค่ะ

4. เลือกวิธีเปิดบัญชีให้เหมาะสม ?

การเปิดบัญชีของคู่แต่งงานนั้น หลักๆ แล้วมีสามทางเลือกค่ะ คือ
1.ทุกบัญชีเป็นบัญชีร่วมหมด
2.มีทั้งบัญชีร่วมและบัญชีแยกของสามีภรรยา
3.แยกบัญชีทั้งหมด
ซึ่งคู่แต่งงานส่วนมากจะเลือกทางเลือกหนึ่งในสองอย่างแรกค่ะ ส่วนคู่อื่นๆ ที่อยู่ด้วยกันก่อนและแต่งงานทีหลังตอนมีอายุมาก คู่ที่คนหนึ่งเคยมีประสบการณ์หย่าร้างมาก่อน คู่ที่สามีหรือภรรยามีประวัติเครดิตไม่ดี หรือมีหนี้สิน คนกลุ่มเหล่านี้จะเลือกทางเลือกที่สามค่ะ คือแยกบัญชีทั้งหมด เพื่อไม่ให้อีกคนได้รับผลกระทบไปด้วยและหลีกเลี่ยงการมีปัญหาทางการเงินนั่นเอง

5. ตั้งยอดขั้นต่ำที่ต้องคุยกันเมื่อจะซื้อของ ?

หนึ่งในวิธีที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องการเงินก็คือ คู่รักควรตกลงกันว่า หากจะซื้อของราคาตั้งแต่เท่าไหร่ขึ้นไปจะต้องมาคุยกันก่อน เพื่อให้อีกฝ่ายรับรู้และยินยอม อาทิ หากซื้อของราคาตั้งแต่ 1 ถึง 9,999 บาท สามารถซื้อได้เลยไม่ต้องปรึกษาก่อน แต่ถ้าจะซื้อของราคาตั้งแต่ 10,000 ขึ้นไป ต้องได้รับความยิมยอมจากอีกฝ่ายนั่นเอง

6. ตั้งนโยบายในการจัดการหากเพื่อน พี่น้อง ครอบครัวจะมายืมเงิน ?

สิ่งหนึ่งที่เรายังต้องเข้าใจก็คือ คู่แต่งงานไม่ได้อยู่กันแค่สองคนบนโลกค่ะ แต่เรายังมีครอบครัว พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูงของสามีและภรรยา และบางครั้งหากคนเหล่านั้นมีปัญหาทางการเงินและจะมาหยิบยืมเงินจากบ้านเรา ก็อาจจะมีปัญหาได้ เพราะฉะนั้น ควรมีการถกกันก่อนระหว่างสามีภรรยา และตั้งนโยบายขึ้นมา เพื่อจะได้นำไปปรับใช้กันทั้งคู่ เพื่อความยุติธรรมและหลีกเลี่ยงการมีปัญหาในภายหลังนั่นเองค่ะ

ด้วยความปรารถนาดีจาก “well-wisher” ค่ะ ?