เคล็ดลับบริหารการเงินส่วนบุคคลมาแล้วจ้า

adminpersonalfin

เคล็ดลับบริหารการเงินส่วนบุคคล?

การบริหารการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) คือ การที่เราบริหารจัดการรายรับ-รายจ่ายของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน พูดง่าย ๆ คือว่า เราหาเงินมาได้กี่ทางจ่ายออกกี่ทาง เอาไปลงทุนอะไรบ้าง เพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น

ยิ่งในยุคนี้ เป็นยุคดิจิทัล การใช้จ่ายก็ทำได้ง่าย ฉับไว ผ่านธุรกรรมทางออนไลน์ บางทีใช้เงินเพลิน การที่เราไม่รู้จักบริหาร การเงินส่วนบุคคล อาจนำไปสู่การก่อหนี้ที่สูงเกินตัวและทำให้เราใช้ชีวิตได้ไม่ปกติสุข ไหนจะหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต หนี้นอกระบบ หนี้ในระบบ ฯลฯ

“well-wisher” มี “แนวคิด” ดี ๆ มาฝาก เกี่ยวกับการบริหารการเงินส่วนบุคคล บางท่านอาจจะทำอยู่แล้ว บางท่านอาจจะยังไม่ได้ทำ แต่ก็หวังว่า นี่จะเป็นอีกหนึ่งบทความที่อ่านแล้ว จุดประกายทางความคิด แม้เพียง “เล็กน้อย” ก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดี

แนวคิดการบริหารการเงินส่วนบุคคล 

1. บริหารการเงินส่วนบุคคล ใช้จ่ายด้วยเงินสด ?

การบริหารการเงินส่วนบุคคล ด้วยการ “ใช้จ่ายด้วยเงินสด” ฝึกฝน “พฤติกรรม” ในการจ่ายเงินออกไปในแต่ละครั้งต้องเป็นเงินของเราเอง ถ้าสิ่งของที่อยากได้เราเก็บเงินยังไม่มากพอตามเป้าหมาย ก็ใจเย็นก่อน โดยเงินที่ใช้จ่ายไม่ใช่ว่าไปกู้เขามาใช้ก่อนแล้วผ่อนทีหลัง บางคนรูดบัตรเครดิตเสียเพลิน แบบนี้จะกลายเป็นดินพอกหางหมูป่าขึ้นมาได้

2. สร้างรายได้จากงานอดิเรก ?

คนเราทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง อยู่ที่เราจะนำสิ่งนั้น มาต่อยอดสร้างรายได้ ได้อย่างไร ทั้งดนตรี กีฬา การศึกษา วิชาการ งานบันเทิง ฯลฯ ถ้าตอนนี้ใครยังนึกไม่ออก แนะนำให้ลองฝึกเขียนบทความ (Article) ขายเลยจ้า นี่ล่ะ ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนใครที่ชื่นชอบการถ่ายรูปด้วยสมาร์ทโฟน “เป็นชีวิตจิตใจ” เอารูปไปขายสิจ๊ะเค้าเปิดเวทีนี้ฟรีที่แอปพลิเคชัน clashot !

3. บริหารการเงินส่วนบุคคล ด้วยการลงทุน ?

แนวคิดที่สำคัญอีกประการของการบริหารการเงินส่วนบุคคล คือ การวางแผนการลงทุน เพราะนอกเหนือจากการมีเงินใช้ การมีเงินออมในธนาคาร (หรือออมรูปแบบอื่น) แล้ว ยังต้องปันเงินอีกส่วนไปลงทุนด้วย เช่น หุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ เพื่อสร้างเงินอีกก้อนให้งอกเงย

4. วางแผนการเงินส่วนบุคคล ด้วยประกันชีวิต ?

อีกแนวคิดในการบริหารการเงินส่วนบุคคลที่สำคัญมากเลยคือ การซื้อประกันชีวิต เพื่อเป็นการรับประกันว่า เมื่อเราเสียชีวิต หรือไม่สามารถทำงานไม่ว่าจะด้วยเหตุใด คนข้างหลังเราจะไม่ลำบาก บางทีเรามาสนใจเรื่องประกันชีวิตตอนอายุมาก เบี้ยประกันก็จะแพงขึ้นตามโรคภัยที่จะมากขึ้นด้วย

ดังนั้น แม้อายุน้อยก็เริ่มทำประกันไว้ได้แล้ว !!

5. ตั้งเป้าหมายของชีวิต ?

บางคนบอกว่า แค่เดือนนี้เงินเดือนออกตรงเวลาก็โอเคแล้ว (…คิดอยู่ใช่มั้ย สารภาพ ฮ่า ๆ ๆ) ไม่เห็นต้องซีเรียสกับชีวิตมากขนาดนั้น แต่ช้าก่อนอย่างน้อยมันก็เป็นเหมือนพิมพ์เขียวให้เราเดินตามอย่างมีเป้าหมาย เช่น จะซื้อรถยนต์ภายใน 1 ปีจากนี้ ต้องออมเดือนละเท่าไหร่ หลังซื้อรถต้องมีค่าซ่อมบำรุงเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายประกันรถเท่าไหร่ เป็นต้น

? การที่เรามีเป้าหมายชีวิต ไม่ว่าจะฝันเล็กหรือฝันใหญ่ มันคือฝันของเราและจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราต้องเริ่มวางแผนการเงินส่วนบุคคล อย่างเป็นระบบเสียที “ตัวเรา” จะต้องควบคุม การเงินส่วนบุคคล อย่าให้ “กิเลส”เป็นผู้ที่เข้ามาควบคุมแทน  ???

เมื่อได้แนวคิดในการบริหารการเงินส่วนบุคคล แล้วก็ลุยเลยค่ะ จัดการ Plan-Do-Check-Act เริ่มจาก “การวางแผน” แต่มันจะเป็นแค่แผนนะคะหากไม่เกิดการ “ลงมือทำ” ระหว่างทางก็ต้อง “ทบทวน” หากมีต้องแก้ไขบ้างก็ “ลงมือแก้ไข/ปรับปรุง” เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพทางการเงินที่ดี..แม้  “เงิน” จะไม่สามารถซื้อได้ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างที่ต้องซื้อต้องใช้ “เงิน”! ??