เศรษฐกิจไม่ดี เรื่องแบบนี้อย่าทำ!!!

adminothers

? 5 สิ่งห้ามทำในยุคเศรษฐกิจไม่ดี ?

เศรษฐกิจดีหรือไม่ดี อาจจะขึ้นอยู่กับว่าคุณทำงานอยู่ในสายงานไหน อุตสาหกรรมอะไร ธุรกิจประเภทไหนเช่นกัน บางธุรกิจโตเอา ๆ (ถึงจะโตแบบช้า ๆ) แต่บางธุรกิจก็ซบเซาถึงขั้นปิดกิจการไปเลยก็มี

? สิ่งที่สำคัญคือ การเอาตัวรอดให้ได้ถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไม่ดีค่ะ

สงครามทางการค้าระหว่างอเมริกากับจีนที่เขย่าขวัญเศรษฐกิจไปทั่วโลก และส่งผลกระทบกับประเทศไทยของเราแน่นอนตัวเลขการส่งออกของไทยที่ปรับตัวลดลงจากผลกระทบของสงครามทางการค้า เพราะไทยเป็นคู่ค้าสำคัญกับจีน แถมตอนนี้ยังมีเรื่อง COVID-19 สงครามราคาน้ำมัน อีกต่างหาก

เอาล่ะ พอรู้ภาพรวมกันแล้ว เราไปดูกันเลยค่ะว่า 5 สิ่งที่ห้ามทำเรื่องการเงินนั้นมีอะไรบ้าง

? 1. ห้ามลงทุนเพิ่มในธุรกิจ

ในยามเศรษฐกิจอ่อนแอแน่นอนการค้าการขายหรือผลกำไรย่อมลดลง ผู้ประกอบการทั้งหลายต่างคิดหาหนทางที่จะเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นเพื่อดึงยอดขายและกำไรกลับมา

หนึ่งในวิธีการเพิ่มกำไรคือ การลงทุนเพิ่ม จะเป็นการเปิดสาขาใหม่เพื่อเพิ่มยอดขาย หรืออย่างอื่นที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ตรงนี้ขอบอกว่าพักไว้ก่อนเพราะอาจเป็นความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งหากการลงทุนเพิ่มต้องกู้เงินเพิ่มหนี้ ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะระยะเวลาการคุ้มทุนในยามเศรษฐกิจอ่อนแอย่อมยาวนานขึ้น

หากต้องการเพิ่มยอดขายให้กลับมาอาจเริ่มที่การปรับลดรายจ่าย หรือถ้าเป็นคนค้าขายอาจขยายเวลาการปิด-เปิดออกไป

?สรุป ปรับที่พฤติกรรมหรือเพิ่มโปรโมชั่นดีกว่าลงทุนเพิ่ม เพราะนั่นคือการเพิ่มความเสี่ยงค่ะ

? 2. ห้ามค้ำประกันให้ใครเด็ดขาด

ข้อนี้อย่าว่าแต่ในยามเศรษฐกิจอ่อนแอเลย บางคนตั้งปณิธานไว้ว่า จะรักกันแค่ไหนก็จะไม่ค้ำประกันให้ใครเด็ดขาด

หลายคนต้องเจอบทเรียน บาดเจ็บ ชีวิตสะดุดจากการค้ำประกันให้ผู้อื่น เข้าข่ายเนื้อไม่ได้กินแต่เอากระดูกมาแขวนคอ

เพราะการค้ำประกันคือการสัญญาว่าบุคคลหนึ่งสัญญาว่าจะชดใช้หนี้แทนลูกหนี้หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ หรือไม่สามารถชำระหนี้ได้

?ในยามที่เศรษฐกิจไม่ดี โอกาสที่ลูกหนี้จะเบี้ยวหนี้ก็มีสูง นั่นหมายความว่าหากเราหลวมตัวไปค้ำประกันให้ใครโอกาสที่จะต้องรับชำระหนี้แทนนั้นก็จะมีสูงขึ้นนั่นเองค่ะ

ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม จงอย่าค้ำประกันให้ใคร ส่วนใครที่จำเป็นจริง ๆ ก็อ่านดูสัญญาให้ละเอียดก่อนเซ็นค้ำประกันให้ดี อย่าเซ็นให้ใครสุ่มสี่สุ่มห้า แม้ว่าอดีตหรือวันนี้เขาอาจจะยังไม่เคยมีประวัติหรือมีปัญหามาก่อน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าอนาคตเขาจะไม่มีวันเบี้ยวหนี้ค่ะ

❎ 3. ห้ามสร้างหนี้ใหม่

อะไรที่เหนือความจำเป็น เว้นวรรคพักหนี้ไว้ก่อนเถอะค่ะ

ไม่ว่าคุณจะวางแผนเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม หรือซื้อบ้านหลังที่สองไว้ตากอากาศ

เพราะตอนเศรษฐกิจอ่อนแอแบบนี้ อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ ถนอมเนื้อถนอมตัว อย่าเพิ่งสร้างหนี้ใหม่ให้เป็นภาระเลยจะได้ไม่ต้องใช้ชีวิตแบบห่วงหน้าพะวงหลังสร้างความไม่สบายใจเสียเปล่า ๆ ค่ะ

? 4. ห้ามนำเงินสำรองฉุกเฉินออกมาใช้โดยไม่จำเป็น

วัตถุประสงค์หลักของเงินสำรองคือเป็นเงินที่จะสามารถนำมาเยียวยาความฉุกเฉินต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นตกงาน  ประสบอุบัติเหตุ ธุรกิจประสบปัญหา ฯลฯ

บางคนไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงินหรือธุรกิจ หรืออาจยังไม่รู้สึกว่าตนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทำให้ชะล่าใจ  ควักเงินสำรองฉุกเฉินออกมาใช้โดยไม่จำเป็น จนสุดท้ายในยามที่เศรษฐกิจไม่ดีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในชีวิต อาจจะไม่มีเงินใช้ในยามฉุกเฉินได้

? 5. ห้ามโลภมาก

อย่าลงทุนในช่องทางที่หวือหวาโดยไม่มีศึกษาความเป็นไปได้ เพราะอาจทำให้คุณติดกับดักมิจฉาชีพ เช่น พวกแชร์ลูกโซ่ หรือการหลอกให้นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่อาจไม่มีอยู่จริงโดยมีผลตอบแทนสูงเย้ายวนใจผู้ลงทุน

ไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย ๆ และเป็นกอบเป็นกำในระยะเวลาอันรวดเร็วหรอกค่ะ

? สรุป

เศรษฐกิจไม่ดีในภาพใหญ่ บางคนอาจจะคิดว่าไกลตัว แต่แท้จริงแล้วล้วนมีผลกระทบกับเราทั้งสิ้น ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ในเมื่ออนาคตเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้

“เราจึงต้องพร้อมเสมอ และไม่ประมาทกับทุกสถานการณ์ค่ะ” ?