เป็นแม่บ้านใครว่าสบาย มาดูแม่บ้านญี่ปุ่นกันดีกว่า ว่าเค้าทำอะไรได้บ้าง

adminothers

8 อาชีพที่แฝงกายอยู่ในร่าง “แม่บ้านญี่ปุ่น” ???

วันนี้ “well-wisher” จะมาแนะนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับแม่บ้านญี่ปุ่น ที่เพื่อน ๆ อาจจะนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือประกอบอาชีพเสริมได้ค่ะ ?

主婦:shufu :ชุฟุ หรือแม่บ้าน เป็นอาชีพหนึ่งของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ทำหน้าที่หลัก ๆ คือ รับผิดชอบเรื่องต่าง ๆ ภายในบ้านทั้งหมด รวมถึงการดูแลเลี้ยงดูลูกด้วย อาชีพนี้เป็นอาชีพในฝันของเด็กผู้หญิงญี่ปุ่นติดอันดับต้น ๆ ด้วย

สังคมญี่ปุ่นนั้นเมื่อผู้หญิงแต่งงานแล้วส่วนใหญ่จะลาออกจากงานเพื่อทำหน้าที่ภรรยาอย่างเต็มตัว เรียกกันว่า 専業主婦:sengyou shufu :เซนเกียว ชุฟุ นั่นเอง แต่บางส่วนถึงจะแต่งงานแล้วก็ยังคงทำงานต่อไปจนกว่าจะมีลูก แล้วถึงจะลาออกจากงานมาดูแลเลี้ยงดูลูกในช่วงแรก แล้วกลับไปทำงานใหม่อีกครั้งเมื่อลูกโตจนส่งเข้าโรงเรียนได้ก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อยในสังคมปัจจุบัน

วันนี้เราจะมาดูกันนะคะว่า 8 อาชีพที่แฝงกายอยู่ในร่างของ “แม่บ้านญี่ปุ่น” นั้นมีอะไรบ้าง

1. แม่ครัวหัวป่า ?

เนื่องจากค่าครองชีพในประเทศญี่ปุ่นนี้ค่อนข้างสูง (มากกกก) เพราะฉะนั้นการออกไปทานอาหารนอกบ้านบ่อย ๆ นั้น อาจจะทำให้กระเป๋าสตางค์ของครอบครัวฟีบไปอย่างรวดเร็ว การซื้อวัตถุดิบจากตลาด หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้วนำมาปรุงเองที่บ้านนั้นถูก ประหยัด สารอาหารครบถ้วนกว่ามากค่ะ 

ดังนั้นแม่บ้านก็ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบหุงหาอาหารให้กับสมาชิกในครอบครัว เป็นแม่ครัวหัวป่าประจำบ้านกันไปค่ะ สาว ๆ ก่อนแต่งงานมักจะนิยมไปลงคอร์สเรียนทำอาหาร เพื่อเสริมสร้างเสน่ห์ปลายจวักมัดใจหนุ่ม ๆ และเตรียมพร้อมความเป็นแม่บ้านของสามีในอนาคต

ส่วนแม่บ้านต่างชาติเวลาอยากทานอาหารของบ้านเกิด ที่ไม่มีขายตามร้านอาหารทั่วไปหรือมีแต่ไม่ถูกปาก ก็ต้องจัดการเอง ดัดแปลงวัตถุดิบกันเองเลย ทั้ง ๆ ที่อยู่เมืองไทยไม่ค่อยจะเคยย่างกรายเข้าครัวมาก่อน เรื่องนี้แม่บ้านคนไทยในต่างประเทศคงจะอ่านไป พยักหน้ากันไปเลยใช่ไหมคะ

2. กูรูล่าของถูก ?

การตามล่าหาของถูกในแต่ละซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้น เชื่อได้เลยว่าแม่บ้านญี่ปุ่นไม่เป็นสองรองใครแน่ ๆ เลยค่ะ

โดยปกติแม่บ้านญี่ปุ่นนี้จะหาข้อมูลจากใบปลิวที่ถูกนำมาหย่อนไว้ในตู้จดหมายบ้าง ในอินเตอร์เน็ตบ้าง เกี่ยวกับราคาสินค้าแต่ละอย่าง เทียบราคากันแต่ละซุปเปอร์ที่ในละแวกบ้านว่าที่นี่อะไรถูก ที่นั่นอะไรแพง เธอก็จะสามารถแยกได้ว่าจะซื้ออะไรที่ไหน แถมยังจำได้ขึ้นใจว่าทุก ๆ วันที่เท่าไรที่ไหนลดราคาอีกด้วยค่ะ

3. พนักงานทำความสะอาดผู้รอบรู้เรื่องสภาพอากาศประจำวัน ?

พอพูดถึงคำว่าแม่บ้าน ปุ๊บ! ภาพผู้หญิงใส่ผ้ากันเปื้อน มือขวาจับเครื่องดูดฝุ่น มือซ้ายถือไม้ปัดฝุ่นลอยขึ้นมาในหัวทันทีเลยใช่ไหมคะ… การทำความสะอาดบ้าน ปัดฝุ่น เช็ดกระจก ล้างห้องน้ำ เป็นงานหลัก ๆ ของคุณแม่บ้านทั้งหลายอยู่แล้ว 

แต่ที่เน้นว่าพนักงานทำความสะอาดผู้รอบรู้เรื่องสภาพอากาศประจำวันก็คือ เธอจะติดตามข่าวพยากรณ์อากาศประจำวันอย่างใกล้ชิดค่ะ ฝนจะตกประมาณกี่โมง แดดจะออกหรือแดดจะหุบ รู้ไปหมด เพื่อจะตัดสินใจเกี่ยวกับการซักผ้าในแต่ละวันได้อย่างที่ไม่ต้องมาเสียใจภายหลังว่าซักเสร็จปุ๊บ ฝนตก ตากผ้าไม่ได้ ผ้าไม่แห้ง ต้องเข้าเครื่องปั่นผ้า ซึ่งพอผ้าแห้งออกมายับยู่ยี่ ต้องมาเหนื่อยรีดกันอีกรอบ

ขอแอบกระซิบบอกว่าผ้าที่ต้องซักในแต่ละวันนั้นแอบเยอะค่ะ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ทุกคนนะคะ) จะใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กเช็ดตัวหลังอาบน้ำแล้วเพียงครั้งเดียวแล้วหย่อนตะกร้าซักผ้าเลยค่ะ ไม่นิยมแขวนไว้ให้แห้งแล้วใช้ซ้ำ เพราะฉะนั้นผ้าต้องซักเยอะค่ะ แถมถ้าบ้านไหนมีสมาชิกหลายคนก็คูณเพิ่มจำนวนกันไปค่ะ

4. พนักงานแยกขยะก่อนหย่อนลงถัง ♻

ของทุกอย่างก่อนทิ้งจำเป็นต้องแยกประเภทอย่างเข้มงวดค่ะ เป็นขยะเผาได้ เผาไม่ได้ กระป๋อง ขวดแก้ว ขวดพลาสติก และอื่น ๆ จิปาถะ ขึ้นอยู่กับเขตที่อยู่อาศัยนั้น ๆ แต่ละประเภทก็จะมีกฎละเอียดยิบย่อยไปอีก เช่น ขวดพลาสติกต้องฉีกฉลากด้านนอกออกก่อนไปเป็นขยะเผาได้ แยกฝาออกไปไว้เฉพาะฝาอย่างเดียว ส่วนขวดก็ล้างน้ำ วางให้แห้งก่อนบีบให้แบน เพื่อประหยัดพื้นที่

ถ้าเป็นกล่องนมก็ต้องล้าง ตากให้แห้ง ตัดตามรูปแบบที่กำหนดไว้แล้วรวบรวมไว้ที่เฉพาะ เป็นต้น

เรื่องพวกนี้ยิบย่อย อาจจะดูเรื่องมากและมากเรื่องในช่วงแรกนะคะ แต่หลาย ๆ คนที่ไปอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นก็คงจะชินจนกลายเป็นกิจวัตรเหมือนกับบรรดาพวกแม่บ้านแน่ ๆ เลยค่ะ

5. ยามรักษาการณ์ประจำบ้าน ?

แม่บ้านญี่ปุ่นจะมีเวลาอยู่บ้านมากกว่าสมาชิกคนอื่น ๆ เป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยของบ้าน และโดยส่วนมากแม่บ้านจะเป็นคนที่ “ตื่นก่อน นอนทีหลัง” ตอนเช้าต้องตื่นมาเตรียมอาหารเช้า ข้าวกล่องเบนโตะให้คุณสามีและคุณลูก ยืนส่งสมาชิกทุกคนออกจากบ้าน ด้วยคำว่า “いってらっしゃい:อิตเตะรัชไช:ไปดี ๆ มาดี ๆ นะ” 

หลังจากนั้นอยู่บ้านทำงานต่าง ๆ พอสมาชิกกลับบ้านมาก็ต้อนรับกลับบ้านด้วยคำว่า “お帰りなさい:โอะคะเอะรินะไซ:ต้อนรับกลับบ้าน” ทานข้าวเย็น เก็บกวาด ทำความสะอาดทุกอย่างและเข้านอนทีหลังทุกคน ถ้าในกรณีคุณสามีติดงาน กลับดึก ๆ ดื่น ๆ ก็จะนั่งรอ นอนรอหรือหลับรอ และตื่นมารับเมื่อคุณสามีก้าวเท้าเข้าบ้านค่ะ

6. นักบัญชีรักษาสภาพความมั่นคงทางการเงินของครอบครัว ?

โดยปกติแม่บ้านจะเป็นผู้ควบคุมจัดการการเงินของครอบครัว เงินเดือนของคุณสามีถูกส่งมาให้แม่บ้านเป็นผู้จัดการแบ่งสรรเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในบ้าน ค่าขนมลูก รวมถึงค่าขนมของคุณสามีเอง ดังนั้นแม่บ้านจะต้องสวมวิญญาณนักบัญชีเพื่อคำนวณรายรับ รายจ่าย รายเดือน รายปีกันค่ะ

แต่ในปัจจุบันคุณสามีที่ไม่ยอมให้แม่บ้านดูแลเงินเดือนทั้งหมดของตนเองมีเพิ่มมากขึ้นนะคะ กลับกลายเป็นจ่ายเงินรายเดือน เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่แม่บ้านเองก็มีค่ะ แต่อย่างไรก็ตามคุณแม่บ้านก็ยังคงต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายของครอบครัวอยู่ดี

7. ออร์แกไนเซอร์จัดงานอีเว้นท์ประจำครอบครัว ?

ไม่ว่าจะเป็นงานครบรอบวันเกิด ครบรอบวันแต่งงาน ปีใหม่ ฮาโลวีน คริสต์มาส หรือจะเป็นการวางแพลนเที่ยวต่างจังหวัด ต่างประเทศ ส่วนใหญ่แม่บ้านก็จะเป็นแม่งาน จัดงานต่าง ๆ รวมถึงดูแลความเรียบร้อยเรื่องของกินของใช้ จัดสัมภาระ จองตั๋วหรืออื่น ๆ จิปาถะค่ะ และโดยปกติแล้วคุณแม่บ้านจะรู้ตารางของสมาชิกทุกคนว่าวันไหนใครมีแพลนจะทำอะไร ไปไหนรู้หมดค่ะ

8. นักชิมชา กาแฟเพลิดเพลินเบเกอรี่อร่อย ๆ ตัวแม่ ☕?

ช่วงบ่าย ๆ ของวันธรรมดาตามร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ต่าง ๆ มักจะเห็นผู้หญิงที่แต่งตัวชุดลำลอง จับกลุ่มกันเม้าท์มอย ดื่มชา กินเค้กกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ 2-3 คน หรือจะมากกว่านั้น หรือแม้แต่มานั่งดื่มชา กาแฟ เพลิดเพลินกับเค้กไป อ่านหนังสือไปคนเดียวก็มี เนื่องจากแม่บ้าน (ที่ไม่ได้ทำงานพิเศษ) จะมีเวลาช่วงบ่าย ๆ ก่อนที่จะถึงเวลาต้องไปจับจ่าย หาซื้อของเพื่อกลับไปเตรียมอาหารค่ำที่บ้าน

ดังนั้นไม่ว่าจะมีร้านชาหรือกาแฟที่โด่งดังเปิดใหม่ที่ไหน บรรดาแม่บ้านก็มักจะไม่ค่อยเคยพลาดในการไปลองค่ะ และตามร้านคาเฟ่ต่าง ๆ มักจะมี Afternoon tea set ไว้รองรับลูกค้ากลุ่มนี้ไว้ด้วย

นี่คืออาชีพหลัก ๆ 8 อาชีพที่แฝงตัวอยู่ในคุณแม่บ้านญี่ปุ่นค่ะ นอกจากนี้ยังมีอาชีพอื่น ๆ ที่แอบแฝงอยู่อีก เช่น พยาบาลส่วนตัวของพ่อแม่สามี คนขับรถรับส่งสมาชิกในครอบครัวในกรณีบ้านอยู่ไกลจากสถานีรถไฟ เป็นต้น อันนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะของแต่ละครอบครัวนะคะ

คุณแม่บ้านของไทยก็คงจะคล้ายคลึงกัน อาจจะต่างกันตรงรายละเอียดและตัวช่วยในการทำงานบ้านต่าง ๆ คุณแม่บ้านที่เมืองไทยอาจจะมีผู้ช่วยผ่อนแรง แบ่งเบาภาระอยู่บ้าง แต่แม่บ้านญี่ปุ่นลุยบุกเดี่ยวค่ะ

แต่เห็นอย่างนี้แม่บ้านญี่ปุ่นทั้งหลายก็สามารถหาความสุขให้ตัวเองได้หลาย ๆ ทางนะคะ เช่น เข้าคอร์สออกกำลังกาย เรียนทำอาหาร เรียนภาษาต่างประเทศ ทำสวนครัวปลูกผัก ทำแปลงดอกไม้ ทำเครื่องประดับเล็กน้อย ๆ ขายตามอินเตอร์เน็ต หรืออะไรที่ตัวเองชอบได้อย่างเต็มที่ (ยกเว้นคุณแม่บ้านที่มีลูกน้อยนะคะ อาจจะหาเวลาส่วนตัวไม่ได้เลย เพราะที่ญี่ปุ่นถ้าครอบครัวชนชั้นกลาง ไม่ใช่เศรษฐีต้องคุณแม่บ้านต้องเลี้ยงเองค่ะ ไม่มีพี่เลี้ยงนะคะ )

“well-wisher” หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนที่สนใจเรื่องราวของแม่บ้านญี่ปุ่นนะคะ หรือสาว ๆ คนไหนสนใจอยากจะทำหน้าที่ “แม่บ้านญี่ปุ่น” ในอนาคตคงจะพอได้สาระจากบทความนี้บ้างนะคะ แล้วพบกันใหม่ค่ะ ?