? แม้แต่ บิล เกตส์ ยังยึดหลักไตรสิกขาและเศรษฐกิจพอเพียง

adminothers

วันนี้ “well wisher” มีบทความจากเฟสบุ๊คที่ดูน่าสนใจมาฝากกันค่ะ เพื่อน ๆ อ่านดูแล้วก็ใช้วิจารณญาณพิจารณากันดูด้วยนะคะ ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ไปดูกันเลยค่ะ

? บิล เกตส์ ยึดหลักไตรสิกขาและเศรษฐกิจพอเพียง

ชื่อของบทความคงสื่อความย้อนแย้งทันทีสำหรับผู้ที่รู้ว่า “บิล เกตส์” เป็นเศรษฐีลำดับ 2 ของโลกด้วยทรัพย์สินประมาณ 8 หมื่นล้านดอลลาร์

? บิล เกตส์ เคร่งครัดในการปฏิบัติหลักธรรมหลายหมวดของพุทธศาสนา รวมทั้งไตรสิกฺขา แม้เขาจะเติบโตในครอบครัวโปรเตสแตนต์และภรรยาเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัดในการปฏิบัติก็ตาม นอกจากนั้น เขายังปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

???เนื่องจาก บิล เกตส์เป็นผู้ครองเรือน ผมจึงใช้ไตรสิกฺขาที่ประกอบด้วย “ทาน ศีล ภาวนา” พิจารณาพฤติกรรมของเขา ไตรสิกฺขาแนวนี้ต่างกับของผู้ที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามแนว “ศีล สมาธิ ปัญญา” เพื่อปูทางสู่นิพพาน เรื่องการทำ “ทาน” ของบิล เกตส์ ซึ่งมองได้ว่ามาจากหลัก “พรหมวิหาร 4” คงทราบกันดีแล้วคือ เขาบริจาคทรัพย์สินให้มูลนิธิที่เขาตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แล้วกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์และเพิ่งบริจาค 100 ล้านดอลลาร์เพื่อหาทางสู้กับไวรัสโควิด-19 นอกจากนั้น เขายังได้ให้คำมั่นสัญญาว่า การบริจาคเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของเขาจะไม่ต่ำกว่า 95% ของทรัพย์สินอีกด้วย

สำหรับ “ศีล” ซึ่งกำหนดแนวพฤติกรรมที่บุคคลในหลายสถานะพึงปฏิบัติ ผมใช้ “ศีล 5” เป็นฐานของการพิจารณาผู้ครองเรือนบิล เกตส์ และสรุปว่าเขาปฏิบัติค่อนข้างเคร่งครัด ผมใช้คำว่า “ค่อนข้าง” เนื่องจากเคยมีรายงานว่า ในสมัยหนึ่งเขาชอบบึ่งรถปอร์ชด้วยความเร็วสูงซึ่งคงบ่งบอกถึงความประมาทที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่มีเรื่องราวที่ชี้บ่งว่าเขาละเมิดข้ออื่น

????ส่วนด้าน “ภาวนา” มองได้ว่าเขาเคร่งครัดมากเนื่องจากเขาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตัวเองตลอดเวลา การปฏิบัติข้อนี้ เขาทำตาม“อิทธิบาท 4”แบบครบถ้วน ในสมัยเด็ก เขาทุ่มเทเวลาให้แก่การแสวงหาความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้เขาแตกฉานจนบริษัทคอมพิวเตอร์จ้างวานไปจับ“แมลง” (bugs) ในโปรแกรมของบริษัท ในสมัยทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำอยู่ในไมโครซอฟท์ เขาปลีกตัวจากชีวิตประจำวันปีละ 2 ครั้ง ๆ ละราว 1 สัปดาห์เพื่อทุ่มเทเวลาอ่านหนังสือวิชาการต่าง ๆ ที่เพิ่งพิมพ์ออกมาและเขามองว่าเขาน่าจะต้องรู้ หลังเกษียณจากงาน เขาอ่านอย่างกว้างขวางขึ้น หลังอ่านจบ เขามักเผยแพร่บทสรุปสั้น ๆ หรือทำทานทางปัญญาผ่าน “บล็อก” ชื่อ gatesnotes.com

⭕️⭕️⭕️ สำหรับด้านเศรษฐกิจพอเพียงที่คนไทยโดยทั่วไปมักท่องได้ว่าประกอบด้วย “3 ห่วง” คือความพอประมาณ ความมีเหตุผลและความมีภูมิคุ้มกัน กับ “2 เงื่อนไข” ได้แก่ความรู้และคุณธรรม “2 เงื่อนไข” เป็นฐานของการปฏิบัติซึ่งผมมองว่า บิล เกตส์เคร่งครัดมาก ด้านความรู้ได้พูดถึงแล้ว สำหรับด้านคุณธรรม ย้อนไปเมื่อครั้งเขายังบริหารไมโครซอฟท์ ผมเคยประณามเขาว่ามีพฤติกรรมจำพวกจงใจจะใช้พลังทางการเงินและสถานะในตลาดฮุบคู่แข่งขนาดเล็ก แต่ ณ วันนี้ ผมสรุปว่าเขาอาจเคยมีพฤติกรรมจำพวกนั้นบ้างแต่มิได้สร้างปัญหามากนักเนื่องจากเกิดบริษัทขนาดยักษ์อย่างรวดเร็วจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงของไมโครซอฟท์

ส่วนด้าน “3 ห่วง” องค์ประกอบเดียวที่อาจมีผู้แย้งอย่างรุนแรงได้แก่ “ความพอประมาณ” ซึ่งความร่ำรวยมหาศาลอาจบ่งบอกว่าเขาไม่น่าจะมี เรื่องนี้ผมมองที่ 2 ประเด็นคือ (1) ในระบบตลาดเสรีที่สะท้อนสัญชาตญาณด้านความต้องการมีอิสระและการแลกเปลี่ยนของมนุษย์ ผู้มีความสามารถสูงอาจร่ำรวยซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงมิได้ห้าม และ (2) บิล เกตส์ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหารของไมโครซอฟท์เมื่ออายุเพียง 45 ปีเพื่ออุทิศเวลามากขึ้นให้แก่มูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของเขา และเมื่อกลางเดือนที่แล้ว เขาวางมือทุกอย่างแม้กระทั่งตำแหน่งกรรมการของบริษัทเพื่ออุทิศเวลาทั้งหมดให้แก่งานด้านการกุศล เขาอายุเพียง 64 ปีและยังมีสุขภาพดีอยู่ ถ้าเขาไม่สละตำแหน่งเหล่านั้น เขาย่อมได้รับค่าตอบแทนในระดับซึ่งคนทั่วไปคงเห็นได้เพียงในฝัน

เรื่องราวที่เล่ามาน่าจะพอสรุปได้ว่า บิล เกตส์ปฏิบัติตามหลักธรรมบางหมวดของพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดกว่าคนไทยจำนวนมากที่อ้างว่าตนเป็นพุทธมามะกะ และในขณะเดียวกันก็ปฏิบัตตามแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่าคนไทยที่ท่องได้อย่างคล่องแคล่วว่าแนวคิดนี้มี 3 ห่วงกับ 2 เงื่อนไขไม่ต่างกับการท่องศีลห้ามาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก

จากเฟสบุ๊ค : ดร.ไสว บุญมา