?พลังของการ “กล้า” ทำอะไรคนเดียว ?

adminothers

?พลังของการ “กล้า” ทำอะไรคนเดียว ?

การคุยกับตัวเองได้นี่ ไม่ใช่บ้านะ ? ภาษาสวย ๆ เค้าเรียกว่า “การสะท้อนตัวตน” (Self-Reflection) มันคือกระบวนการเรียนรู้ขั้นสูง ที่ต้องอาศัยการรับรู้และยอมรับค่านิยมของตัวเองจ้ะ

เมื่อเรา “ยอมรับค่านิยมของตัวเอง” จากนั้นนำมาวิเคราะห์ และปรับวิถีให้ตรงกับตัวเองมิใช่ตรงกับค่านิยมของผู้อื่น โดยเฉพาะในแบบที่ โซเชียล เน็คเวิร์ค ยัดเยียดให้..อย่าฝืนทำนะจ๊ะ

บทความนี้จะบอกวิธีการฝึกทักษะ “การสะท้อนตัวตน” หรือการเรียนรู้ตัวเองเชิงลึก มี 6 วิธี อ้างอิงเนื้อหาจากปลายปากกาของ “โกะโด โทคิโอะ” ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาตนเองชาวญี่ปุ่น ในหนังสือที่ชื่อ “พลังของคนที่กล้าทำอะไรคนเดียว”

? นี่คือสุดยอดของทักษะพื้นฐาน ที่ใคร ๆ ก็ฝึกได้ และผลลัพธ์คือเราจะสามารถ “เข้มแข็งในความสันโดษ” ได้อย่างสง่างามในศตวรรษแห่งอินเทอร์เน็ต

1.เลิก “กลัวการทำอะไรคนเดียว” ?

การสนุกกับการอยู่คนเดียว คือการเป็นตัวของตัวเองและใช้ชีวิตให้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่ คือหนึ่งในวิธีการฝึกทักษะ “การสะท้อนตัวตน”

ยิ่งเราพยายาม เก็บกดตัวตนและทำตัวกลมกลืนกับคนอื่นเพื่อเลี่ยงการอยู่กับตัวเองเท่าไร เราจะยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวได้ง่ายแม้จะมีคนอยู่รอบข้าง

ในทางกลับกัน หากเราสื่อความรู้สึกที่แท้จริงออกไป ยึดมั่นในความคิดและพยายามแสดงความสามารถของตัวเอง บางครั้งเราอาจสวนทางกับคนอื่น หรือมีบางคนปลีกตัวห่างจากเราบ้าง

“แต่ต่อให้รู้ว่ามีคนเกลียดเรา การทำในสิ่งที่ตนอยากทำอย่างเต็มที่ ถือเป็นการให้ความสำคัญกับชีวิตของตัวเอง หากเราแสดงตัวตนที่แท้จริงออกไปผู้คนจะสัมผัสถึงเสน่ห์ของเราได้มากขึ้น”

ยิ่งเรารู้จักตัวเองมากเท่าไหร่ เรายิ่งมองเห็นเส้นทางในการใช้ชีวิตได้ชัดเจนมากขึ้น สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์ในทุกด้าน เช่น การเลือกงาน ความสัมพันธ์กับผู้คน การใช้เงิน

“หากเราใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตัวเอง ตัวตนของเราจะได้รับการขัดเกลามากขึ้น ทำให้เรามีความมั่นใจและเชื่อมั่นที่จะเป็นตัวของตัวเอง”

2.เลิก “อยู่กับใครสักคนตลอดเวลา” ⛹️

หากเราอยู่กับคนอื่นตลอด เราจะมีเวลาเผชิญหน้ากับตัวเองน้อยลง การได้อยู่กับตัวเองตามลำพัง จึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราได้เผชิญหน้ากับตัวเอง คนที่รู้จักโดดเดี่ยวมักแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสุขุม เพราะสร้างกระบวนการคิดภายใน ที่คนอื่นมองไม่เห็นขึ้นมาโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว

เราจะสะท้อนตัวตนได้ นั้นหมายความว่าเราจะต้องมีเวลาอยู่กับตัวเองตามลำพังนั่นเอง (แอดมองว่า ด้วยสังคมเมือง ด้วยครอบครัวที่เป็นแบบเดี่ยวมากขึ้น ทุกคนน่าที่จะมีเวลามากพอที่จะได้สะท้อนตัวตน อย่างเช่น คนทำงาน ก็พักหอคนเดียว อยู่คอนโดคนเดียว ฯลฯ หรือหากครอบครัวใหญ่ เราก็ต้องหาเวลาปลีกวิเวกบ้าง)

วิธีการฝึกคือ การคำนึงถึงวงจร เหตุการณ์-ความรู้สึก-ความคิด-พฤติกรรม-ผลลัพธ์ เช่น หากเราเจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกโกรธ ก่อนที่จะแสดงพฤติกรรมอะไรออกไป ให้คิดก่อนว่ารูปแบบที่เราแสดงออกไปนั้นมันจะก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างไร และควรแสดงออกแบบไหน นั่นก็คือใช้เหตุผลนั้นเอง

นี่คือการฝึกกระบวนการภายในจิตใจ ให้เป็นนิสัย ไม่ตอบโต้ต่ออารมณ์ ด้วยพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อตัวเอง (แอดหลุดบ่อย กำลังพยายามใช้เหตุผลสู้กับอารมณ์ เพราะเมื่อเราโตขึ้นพัฒนาการด้านจิตใจควรโตตาม)

3.เลิก “วิ่งหนีความเจ็บปวด” ?

การที่เราเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความรู้สึกของตัวเอง จะยิ่งทำให้เราเจ็บปวดมากขึ้น มันเหมือนกับเราแค่หลอกตัวเอง ให้หายเจ็บปวดแค่ชั่วครั้งชั่วคราวแต่จริง ๆ แล้วความเจ็บปวดนั้นมันยังคงอยู่

ดังนั้น มันอาจจะต้องใช้ “ความกล้าหาญ” ในการยอมรับไม่ว่าจะเป็น เจ็บปวดเพราะอกหัก เจ็บปวดเพราะตกงาน เราต้องยอมรับและไม่ปฏิเสธความรู้สึกนั้น

“คนคนหนึ่งจะลุกขึ้นยืนจากจุดตกต่ำที่สุดได้” ก็ด้วยความมั่นใจ อันมาจากการยอมรับความเจ็บปวด และก้าวข้ามผ่าน จะทำให้จิตใจเข้มแข็งขึ้น แสดงสีหน้า คำพูดและพฤติกรรมได้ชัดเจนขึ้น กลายเป็นคนมีเสน่ห์และอารมณ์ลึกซึ้ง แต่ตราบใดที่เรายังหลอกตัวเอง เราจะไม่มีทางเปลี่ยนความเจ็บปวดนั้น ให้กลายเป็นความลึกซึ้งในฐานะมนุษย์ได้เลย

ยิ่งเราพยายามซื่อสัตย์ กับเสียงของตัวเองมากเท่าไหร่ เราจะวางสิ่งที่เคยยึดถือลง และรับรู้ถึงจิตใจที่แท้จริงของตัวเองได้มากขึ้น…และตัวเราที่สุขุมมากขึ้น จะฉุดเราออกจากสถานการณ์เดิม ๆ เพื่อที่ครั้งหน้า เราจะไม่กลับไปเจอประสบการณ์แย่ ๆ แบบเดิมอีก

4.เลิก “จัดการตารางงานแน่นเอี้ยด” ?

ไม่ว่าจะงานยุ่งแค่ไหน เราต้องหาเวลาอยู่กับตัวเองบ้าง ต้องมีเวลาสะท้อนตัวตน อย่าทำงานหนักจนสุดท้ายเอาเงินที่หามาได้เพื่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพซะจนหมด

หากรู้สึก “เบื่อ” “ไม่ไหวแล้ว” เราก็ต้องยอมรับความรู้สึกของตัวเอง ปล่อยให้มันปะทะตัวเราจากการสะท้อนตัวตน เราจะได้ยินเสียงอันอ่อนโยนตอบกลับมาจากส่วนลึกภายในตัวเราเองว่า “งั้นเหรอ” รู้สึกเบื่อ” “ไม่ไหวแล้วเหรอ” เสียงนี้ทำให้เรารู้ว่าเรากำลังอ่อนแอ

ฉะนั้น เราต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง เมื่อเราซื่อสัตย์กับตัวเองเราจะรู้ว่า ตอนนี้เรากำลังฝืนอยู่และมันใกล้จะถึงขีดจำกัดแล้ว และหากเราฝืนต่อไปมันจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น เราจะพิจารณาได้เองว่า “ควรทำเหมือนเดิมต่อไป” หรือเราควรจะ “ผ่อนปรนลงบ้าง”

“การมีเวลาสะท้อนตัวตนตามลำพัง จะช่วยให้เซนเซอร์ในตัวเราทำงานได้ไวขึ้น ทำให้ความสามารถในการรับรู้เหตุอันตรายของเราเพิ่มขึ้นนั่นเอง”

(ปล.พูดง่าย ๆ ก็คืออย่าทำงานหนักจนเสียสมดุลของชีวิตด้านอื่น ๆ ทั้งเรื่องครอบครัว ทั้งสุขภาพส่วนตัว ฯลฯ จงหาเวลาพัก จงหาเวลาอยู่กับตัวเองตามลำพัง เพื่อสะท้อนตัวตนค่ะ)

5.เลิก “โยนความผิดให้คนอื่น” ?️

ลงมือทำโดยคิดว่าทุกอย่างคือ “ความรับผิดชอบของตัวเราเอง” การ จะหลุดพ้นจากความอ่อนแอและได้มาซึ่งอิสรภาพและความสำเร็จ เราต้องลงมือทำสิ่งต่าง ๆ โดยคิดว่า ทุกอย่างคือความรับผิดชอบของเราเอง ไม่ว่าจะเรียนต่อหรือไม่ จะมีรายได้มากหรือน้อย จะเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย หรือจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็เป็นความรับผิดชอบของตัวเองเช่นกัน

หากคิดได้แบบนี้ เราจะคิดได้ว่า “ตัวเองควรทำอะไร” และยังคาดเดาอนาคตและรู้จักเตรียมพร้อมต่อความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เรื่องของทักษะ เราอยากจะเป็นแบบนี้ในอนาคตเราจะคิดได้เองว่าเราจะต้องเตรียมพร้อมทักษะอะไรบ้าง ในวันนี้

(ปล.เราอยากจะมีเงินเก็บเท่าไหร่ในอนาคต เราก็สามารถเตรียมพร้อมด้านการออม และด้านการลงทุนได้นับตั้งแต่วันนี้ และปิดความเสี่ยงที่เราคาดว่ามันจะเกิดขึ้นในอนาคต…เรื่องเหล่านี้เราต้องนั่งคุยกับตัวเอง สะท้อนตัวตนออกมา แล้วหาทางเดินสู่เป้าหมายนั้น)

6.เลิก “สร้างภาพ” ?

ความสามารถที่จะสนุกกับความโดดเดี่ยว จะทำให้เราไม่แคร์สายตาคนอื่น และกล้าที่จะแสดงตัวตนที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น เราจึงใช้ชีวิตได้อย่างซื่อตรงต่อตัวเอง โดยไม่ต้องโกหก ปิดบังหรือสร้างภาพ ทำให้เรารู้สึกว่า “ทุกวันช่างเป็นวันที่สดใส”

เราไม่จำเป็นต้องปกปิดความรู้สึกที่แท้จริง ด้วยการแสดงตัวตนในแบบที่คนอื่นอยากให้เป็น แต่ควรแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกไป และค่อย ๆ ปรับจูนให้ใกล้เคียงความฝันแบบที่ทำให้เรามีความสุข หากเราใช้ชีวิตโดยไม่ปกปิดเนื้อแท้ของตัวเองได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องโกหกหรือสร้างภาพ

กรณีเลิกสร้างภาพนี้ ผู้เขียนถึงกับพูดว่า “เป็นคนไร้หัวใจ นั่นแหละดี!” โดยเฉพาะในสังคมประเทศญี่ปุ่น สังคมที่เต็มไปด้วยความเครียด คนที่จะมีความสุขได้ คือคนที่ไม่สะทกสะท้านต่อสิ่งใด สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีพลังจากความโดดเดี่ยวสูงขึ้น

*โดยสรุป ⛷️ ขอจบด้วยตอนหนึ่งของหนังสือเขียนไว้อย่างน่าสนใจและทันต่อยุคสมัยมาก “หาก AI พัฒนาตัวเองด้วยวิธีการเรียนรู้ในเชิงลึก (Deep Learning) การสะท้อนตัวตนเมื่ออยู่โดยลำพัง จึงเรียกได้ว่า เป็นการเรียนรู้ตัวเองในเชิงลึก หรือ “Self-deep Learning” ที่ช่วยให้เราพัฒนาจิตใจของเราได้ด้วยตัวเอง”

ค่อย ๆ ฝึกไปทีละข้อนะคะ จิตใจเรา คือ ฐานสำคัญและเมื่อใดที่จิตใจของเรา “สตรอง” ปัญหาทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิต มันก็แค่ “เรื่องขี้หมา” ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การงาน หรือแม้กระทั่ง #การเงิน ?

จากหนังสือ พลังของคนที่กล้าทำอะไรคนเดียว โดย โกะโด โทคิโอ