วันออกพรรษา

adminothers

วันมหาปวารณาออกพรรษา ? ???

วันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ของทุกปี เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์ เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะการจำพรรษาหรือออกจากการอยู่ประจำที่วัดในช่วงฤดูฝนตลอด ๓ เดือน เมื่อทำพิธีออกพรรษาแล้ว พระภิกษุสงฆ์สามารถจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตามความประสงค์โดยไม่จำเป็นต้องกลับมาค้างแรม ณ วัดที่ตนสังกัด

          วันออกพรรษานี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” แปลว่า “อนุญาต” หรือ “ยอมให้” คือเป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกัน ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ? เนื่องจากในระหว่างที่เข้าพรรษาอยู่ด้วยกัน พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข และการให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนก็จะทำให้รู้ข้อบกพร่องของตน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันได้ด้วย พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้ และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แม้พระผู้ใหญ่จะมีอาวุโสมากกว่า แต่ท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง เพื่อเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรือออกพรรษา พระท่านจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ตามระบอบของพระธรรมวินัยอยู่ตลอดเวลา

          ในวันออกพรรษานี้กิจที่ชาวบ้านมักจะกระทำก็คือ การบำเพ็ญกุศล ?????? เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้ม มัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษาที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ ๒ อย่าง คือ ประเพณีตักบาตรเทโว และประเพณีเทศน์มหาชาติ

           ประเพณีการตักบาตรเทโว คำว่า “เทโว” ย่อมาจาก”เทโวโรหน” แปลว่าการเสด็จจากเทวโลก ? การตักบาตรเทโว จึงเป็นการระลึกถึงวันที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาในเทวโลก ในครั้งนั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวปฏิบัติสืบทอดกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

          ส่วนประเพณีเทศน์มหาชาติ นิยมทำกันหลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินไปแล้ว อาจทำในวันขี้น ๘ ค่ำกลางเดือน ๑๒ หรือในวันแรม ๘ ค่ำก็ได้ ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน ๔ เรียกว่า “งานบุญพระเวส” ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน ๕ ต่อเดือน ๖ ก็มี งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในกาลพิเศษจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน ๑๐ การเทศน์มหาชาตินั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          เมื่อวันออกพรรษามาถึงเป็นการเตือนใจชาวพุทธว่า วันเวลานั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว คนเราแม้จะร่ำรวย พรั่งพร้อมสมบูรณ์เพียงใด วันหนึ่งก็ต้องตาย บุญกุศลที่ได้บำเพ็ญเพียรมาตลอดพรรษาก็ควรหมั่นทำต่อไป เพื่อเป็นผลบุญให้เราได้มีความสุขต่อไปในชาติหน้าได้ ?