โรคเสพติดหนี้เป็นยังไง มาดูกันดีกว่า

admindebt

Debt Addiction “เสพติดหนี้” ..โรคนี้คุณเป็นไหม ?

คนวัยทำงานอย่างเรา คงเคยเจอสภาวะ “เงินช็อต” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย และเมื่อเกิดอาการ “เงินช็อต” ขึ้นมานั้น ทางออกที่ดูเหมือนจะดีที่สุดก็คือ การยืมเงิน ? แน่นอนว่าเมื่อเกิดการยืมแล้ว สิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้น ก็คือ “หนี้” ? ซึ่งจริง ๆ แล้ว มันก็ไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่โตอะไร แค่พยายามหาเงินมาให้ได้เท่ากับที่ยืมมา แล้วก็คืนให้กับเจ้าหนี้ไป แต่ถ้าคุณคิดว่าเป็นเรื่องง่ายขนาดนั้น แล้วเกิดภาวะการยืมเงินติดต่อกันจนเป็นวัฎจักรละก็ ? นั่นเป็นสัญญาณอันตรายว่าคุณกำลังจะมีอาการ “เสพติดหนี้”

อาการ Debt Addiction หรือ “อาการเสพติดหนี้  ” เป็นอาการที่พบได้เกือบทุกเพศ ทุกวัย (อาจยกเว้นวัยเด็ก) ผู้ที่มีอาการนี้ โดยทั่วไปแล้วมักจะมีอุปนิสัยใช้เงินเก่ง ฟุ่มเฟือย ประมาณว่าเห็นอะไรแล้วก็อยากได้ไปเสียหมด ?? แม้แต่สินค้าบางอย่างที่ซื้อไปแล้วก็ใช้ประโยชน์สำหรับตัวผู้นั้นไม่ได้ แต่ก็ยังจะซื้อด้วยเหตุผลที่ว่า มีการจัดรายการ ลดราคา มีข้อเสนอพิเศษ เป็นต้น ในขณะที่รายรับของตนเองก็ไม่เพียงพอที่จะสนองรายจ่ายในสิ่งที่ตนต้องการได้ สุดท้ายก็จบลงที่การกู้หนี้ยืมสิน และเกิดการยืมไปเรื่อย ๆ ทำให้ตนเองอยู่ในสถานะลูกหนี้อยู่ตลอดเวลา ในบางรายอาจมีรสนิยมที่ถือว่าการใช้บัตรเครดิตนั้นดูโก้กว่าการชำระด้วยเงินสดร่วมด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงอาการ เสพติดหนี้ ก็คือ การมีพฤติกรรมการยืมที่ติดเป็นนิสัย การยืมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเงินเพียงอย่างเดียว ยังรวมไปถึงวัตถุสิ่งของอื่น ๆ ด้วย เช่น เครื่องเขียน หนังสือ ขนม เป็นต้น และเมื่อยืมเงิน หรือสิ่งของดังกล่าวไปแล้ว ก็ไม่สามารถนำมาคืนได้ พฤติกรรมดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดการก่อหนี้ที่ไม่จบไม่สิ้น ในบางราย อาจมีการสร้างหนี้ใหม่ เพื่อลบหนี้เก่าร่วมด้วย โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลยว่า “มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย” ??

ปัจจัยสำคัญ ที่บ่งบอกถึงอาการเสพติดหนี้ คือ การไม่รับรู้ถึงสภาพทางการเงินของตัวเอง ไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง นำมาซึ่งการบริหารจัดการเงินที่แย่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ไม่มีการออมเงินสำหรับในกรณีฉุกเฉิน หรือสำหรับอนาคต เช่น ตอนเกษียณ ตอนเจ็บป่วย ทำให้เมื่อเกิดมีรายจ่ายพิเศษขึ้นมา มักจะเกิดปัญหาทางการเงินอยู่บ่อย ๆ และในที่สุดก็วนไปหาวัฎจักรเดิม คือ การยืมเงิน ยิ่งในบางรายที่ไม่ทำความเข้าใจกับกระบวนการการยืมเงิน กู้เงิน ทั้งเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ และข้อกำหนดสัญญาของการเป็นหนี้ ก็ยิ่งเป็นตัวชักนำที่ทำให้เป็นหนี้ไม่รู้จบ

อาการเสพติดหนี้ดังกล่าว นำมาซึ่งผลเสียมากมาย ทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง ในเบื้องต้น คือ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ ทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ เพราะถ้าไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ ทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่อาจถูกยึดไป ยิ่งในกรณีของหนี้นอกระบบ อาจมีผลต่อความมั่นคงในชีวิตด้วย อย่างในบางกรณีที่หาเงินมาใช้หนี้นอกระบบไม่ได้ และถูกทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สินก็มีมาแล้ว และการเสพติดหนี้ ยังกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน หรือแม้แต่ญาติพี่น้อง โดยผู้ที่มีอาการเสพติดหนี้มักไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย

นอกจากนี้ อาการเสพติดหนี้ ยังเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมด้วย เพราะเมื่อผู้ที่เป็นหนี้ ไม่สามารถใช้วิธีการสุจริตในการหาเงินมาใช้หนี้ได้ ก็มักจะเริ่มใช้วิธีทุจริตเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือที่เลวร้ายที่สุด ลูกหนี้บางรายถึงกับฆ่าตัวตายเพื่อหนีหนี้ บางรายก็วางแผนฆาตกรรมเจ้าหนี้เพื่อล้างหนี้ ดังที่เคยเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ ? ? ?

แปลมาจากเว็บไซต์ http://www.moneycrashers.com/what-is-debt-addiction/ และ http://debtorsanonymous.org/help/signs.htm