กฎหมายทวงหนี้ เกี่ยวกับเราอย่างไร?

Tavatchai Engdebt

กฎหมายทวงหนี้เกี่ยวกับเราอย่างไร ใครรู้บ้างไหมคะ?

วันนี้ “well-wisher” มีข่าวดีสำหรับผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ลูกหนี้” ทั้งหลายให้ได้ทราบว่า เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา มีกฎหมายการทวงถามหนี้ฉบับใหม่ออกมา ซึ่งค่อนข้างให้ความคุ้มครองลูกหนี้อย่างเราพอสมควร ว่าถ้าเจ้าหนี้จะทวงหนี้จากเราแบบถูกต้องตามกฎหมายต้องทำยังไง? รวมไปถึงบทลงโทษหากฝ่าฝืนจะหนักแค่ไหน? ไปดูกันเลยค่ะ

1. ใครจะทวงหนี้เราได้บ้าง? 😤

เพื่อป้องกันการทวงหนี้นอกระบบ คนที่จะทวงหนี้เราได้ จะต้องมีการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎกระทรวงก่อน แม้แต่ผู้ที่เป็นทนายที่ได้รับการว่าจ้างเพื่อไปทวงถามหนี้ ก็ต้องมีการรับรองขึ้นทะเบียนจากสภาทนายความด้วย ส่วนผู้ที่จะมาทำหน้าที่ทวงถามหนี้เรานั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงิน โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจมาด้วย เพื่อแสดงเป็นหลักฐานว่าได้รับมอบอำนาจมาจริง และในการทวงหนี้ไม่ว่าจะเป็นทั้งต่อหน้าหรือทางโทรศัพท์ จะต้องมีการแนะนำตัว แจ้งชื่อ นามสกุลของตนเอง รวมทั้งชื่อของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายมา และแจ้งจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระในจำนวนที่ถูกต้อง โดยผู้ทวงถามหนี้ต้องแจ้งสิ่งที่กล่าวมานี้ต่อผู้ที่เป็นลูกหนี้เท่านั้น จะเปิดเผยกับบุคคลอื่นไม่ได้ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ถ้าไม่เจอเรา จะทวงหนี้ผ่านคนรู้จักเราได้หรือเปล่า? 😖

คนรู้จักในที่นี้ อาจหมายถึงเพื่อนร่วมงาน เพื่อนข้างบ้าน หรือคนอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยอดหนี้ของลูกหนี้ ถ้าผู้ทวงถามหนี้จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับลูกหนี้ จะสามารถสอบถามได้เพียง “ที่อยู่ปัจจุบัน” 🏠 “สถานที่ที่สามารถติดต่อได้” หรือ “เบอร์โทรศัพท์” 📱เท่านั้น หรือขอให้ผู้ที่สนทนาด้วยซึ่งเป็นบุคคลอื่น ยืนยันข้อมูลว่าลูกหนี้ยังอยู่อาศัยหรือยังทำงานอยู่หรือไม่ หรือยังใช้เบอร์โทรศัพท์เบอร์เดิมหรือไม่ เป็นต้น จะไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลอื่นๆ ของลูกหนี้ให้บุคคลอื่นๆ เหล่านั้นรู้ได้ และ ✉ ห้ามใช้จดหมายหรือซองเอกสารที่มีการจ่าหน้าซองโดยใช้คำที่บ่งบอกว่าเป็นการทวงหนี้ เช่น คำว่า “อนุมัติฟ้อง” หรือคำว่า “ชำระหนี้ด่วน” เป็นต้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. การติดต่อกับบุคคลใกล้ชิด เช่น สามี ภรรยา พ่อแม่ หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ 😞

จากข้อ (2) หากต้องมีการโทรไปทวงหนี้ หรือไปทวงถามหนี้ถึงบ้านของลูกหนี้ แล้วไม่เจอตัวลูกหนี้ แต่เจอคนใกล้ชิด เช่น สามี ภรรยา พ่อแม่ หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และถ้าบุคคลที่กล่าวมานั้นสอบถามถึงรายละเอียดของหนี้ หรือสาเหตุการมาติดต่อของผู้ทวงถามหนี้ คนที่ทวงถามหนี้จะตอบได้เท่าที่ “จำเป็น” และ “เหมาะสม” เท่านั้น

4. จะทวงหนี้เราได้ที่ไหน และตอนไหนได้บ้าง? 😕

ในการทวงถามหนี้ ผู้ทวงถามหนี้จะทวงหนี้ได้ตามที่อยู่ที่ลูกหนี้แจ้งไว้ในสัญญา เช่น สัญญาเงินกู้ หรือสัญญาเช่าซื้อ เท่านั้น จะไปติดต่อสถานที่อื่นไม่ได้ หรือหากเป็นการโทรไปทวงหนี้ก็เช่นกัน ต้องโทรไปเบอร์ที่ลูกหนี้เคยแจ้งไว้ในสัญญากู้ หรือใบสมัครตอนขอสินเชื่อเท่านั้น จะโทรไปเบอร์อื่นไม่ได้ และจำนวนครั้งในการทวงหนี้ต้องเหมาะสมด้วย คือ ไม่โทรถี่ หรือโทรจิกจนเกินไป โดยกฎหมายได้กำหนดช่วงเวลาในการติดตามทวงถามหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทวงหนี้ต่อหน้า หรือโทรไปทวงหนี้ไว้อย่างชัดเจน คือ
วันจันทร์ – ศุกร์ ติดต่อได้ในเวลา 08.00 น. – 20.00 น.วันหยุดราชการ ติดต่อได้ในเวลา 08.00 น. – 18.00 น.หากติดต่อลูกหนี้ตามที่อยู่หรือเบอร์โทรที่แจ้งไว้ไม่ได้จริงๆ ก็สามารถไปติดต่อสถานที่อื่นตามวิธีที่ถูกต้องที่กำหนดไว้ในข้อ (2) ได้ และถ้าลูกหนี้ไม่สะดวกตามเวลาที่กำหนดไว้ ก็ให้ติดต่อในเวลาอื่นตามความยินยอมของลูกหนี้เท่านั้น

5. ข่มขู่เราได้หรือเปล่าเวลาทวงหนี้? 😫

“ไม่ได้เด็ดขาด” เวลาไปทวงหนี้ ผู้ทวงถามหนี้ไม่สามารถพูดจาข่มขู่ ดูหมิ่น หรือใช้กำลังทำร้ายร่างกาย ทรัพย์สิน หรือแม้แต่ชื่อเสียงของลูกหนี้ได้ และไม่สามารถอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ หรือไม่สามารถอ้างหมายศาลมาทวงหนี้จากลูกหนี้ได้ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอีกกรณีหนึ่ง คือ ห้ามทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการทวงหนี้จากสำนักทนายความ หรือใช้ข้อความใดๆ ในเชิงข่มขู่ว่าถ้าหากไม่จ่ายหนี้จะถูกดำเนินคดี ถูกยึดทรัพย์หรือเงินเดือน เป็นต้น หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6. ถ้าต้องการชำระหนี้ จะชำระได้ที่ใคร? 😐

ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ที่เจ้าหนี้โดยตรง หรือผู้ทวงถามหนี้ ซึ่งผู้ทวงถามหนี้ต้องมีหนังสือมอบอำนาจที่แสดงชัดเจนว่าตนเองได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้เพื่อมาทวงหนี้ ส่วนการแสดงตนอย่างไรนั้นสามารถดูได้ตามข้อ (1) และเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ต้องออกหลักฐานการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ด้วย หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

7. เรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากหนี้ได้ไหม? 🤔

ผู้ทวงถามหนี้ไม่สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากยอดหนี้ได้ เช่น ดอกเบี้ยที่เกินกำหนด เป็นต้น และอีกกรณีหนึ่งคือ ห้ามผู้ทวงถามหนี้เสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็ค ทั้งที่รู้ว่าลูกหนี้ไม่มีเงินมาชำระหนี้ เพื่อล่อให้เช็คเด้ง แล้วนำเช็คนั้นไปดำเนินคดีอาญากับลูกหนี้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

8. เจ้าหน้าที่ของรัฐทวงหนี้เราได้ไหม? 😶

เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถทวงถามหนี้ที่ไม่ใช่ของตนได้ เว้นแต่ว่าหนี้ก้อนนั้นจะเป็นหนี้ของสามี ภรรยา พ่อแม่ หรือผู้สืบสันดานของเจ้าหน้าที่คนนั้นๆ เอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมีอำนาจในการทวงหนี้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย สาเหตุที่ต้องมีข้อห้ามเจ้าหน้าที่รัฐแบบนี้ เพราะว่าที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มใช้อำนาจในการข่มขู่ อ้างตนเป็นใหญ่เพื่อทำการทวงหนี้ ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยคุ้มครองลูกหนี้จากคนกลุ่มนี้ ไม่ให้โดนเอารัดเอาเปรียบได้ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

9. โดนทวงหนี้ไม่เป็นธรรม จะทำอะไรได้บ้าง? 😣

กรณีโดนผู้ทวงถามหนี้ใช้วิธีการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม เช่น การข่มขู่ คุกคาม ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย หรือโดนทวงหนี้ไม่ถูกขั้นตอนหรือวิธีการที่พูดถึงข้างต้น เราสามารถนำความไป “ฟ้องร้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ได้ โดยบทลงโทษของแต่ละกรณีก็จะแตกต่างกันไปตามที่อธิบายมาในแต่ละข้อข้างบน แต่โดยรวมแล้วก็จะมีตั้งแต่ จำคุกไม่เกิน 1 – 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 – 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนใครที่อยากดู พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ฉบับเต็ม ก็สามารถดูได้ที่นี่เลยค่ะ

ในการออกกฎหมายทวงถามหนี้ขึ้นมานี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่ากฎหมายค่อนข้างให้ความคุ้มครองกับประชาชนที่เป็นลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ไม่ให้ถูกกดขี่ข่มเหงมากจนเกินไป โดยเฉพาะลูกหนี้นอกระบบที่จะไม่โดนทำร้ายร่างกายเหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และมีโอกาสในการเจรจาหรือผ่อนผันหนี้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การขอสินเชื่อก็อาจมีความยุ่งยากมากขึ้น เพราะสถาบันการเงินคงต้องคัดเอาแต่ลูกหนี้ที่มีประวัติดีๆ เท่านั้น และทางเจ้าหนี้อาจต้องมีการปรับปรุงการทวงหนี้ขึ้นมาใหม่ให้ละเมียดละไม และสุภาพมากที่สุด เพราะหากยังมีการทวงหนี้เหมือนเดิมอยู่ อาจจะต้องติดคุกกันหมดก็ได้ค่ะ 😅

: ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558