😥 🏡บ้านก็ต้องผ่อน หนี้ก็ต้องใช้ 💴

Tavatchai Engdebt

😥 🏡บ้านก็ต้องผ่อน หนี้ก็ต้องใช้ 💴

เปิดวิธีใช้เงินอย่างไรในวันที่ไม่มีรายได้ช่วงวิกฤตโควิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจประเภทต่าง ๆ อย่างหนัก ผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานเพื่อความอยู่รอด

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในเดือนมีนาคม 2563 ไทยมีผู้ว่างงานประมาณ 3.92 แสนคน เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีผู้ว่างงานประมาณ 3.46 แสนคน

จำนวนผู้ว่างงานที่สูงขึ้นในช่วง 1 ปีนี้ทำให้เกิดคำถามที่ว่า หากอยู่ ๆ คุณก็กลายเป็นผู้ว่างงานอย่างกระทันหัน คุณจะทำอย่างไรกับหนี้สินที่มีอยู่ ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้เพื่อการศึกษา รวมถึงหนี้บัตรเครดิต ทางออกที่ดีที่สุดคือการเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อช่วยประคับประคองให้ผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ไปได้

1.มองภาพรวมพื้นฐานทางการเงินของคุณก่อน 💰

การมองภาพรวมพื้นฐานทางการเงินเป็นสิ่งแรกที่คุณควรทำ หากอยู่ ๆ คุณต้องกลายเป็นคนว่างงานอย่างไม่ทันตั้งตัว คุณควรตั้งสติให้ดีก่อนเพื่อป้องกันการตัดสินใจที่ผิดพลาดในช่วงนี้ โดยอาจมองภาพรวมในชีวิตก่อนก็ได้ว่า คุณมีหนี้สินอะไรบ้างที่จำเป็นต้องรีบจ่ายในเร็ว ๆ นี้ จากนั้นมองไปที่หนี้ในระยะยาว และความจำเป็นพื้นฐานในชีวิตที่ต้องใช้เงิน

โดยหนี้ที่มี คุณต้องจำแนกให้ได้ว่าคุณติดหนี้อยู่เท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ยแพงแค่ไหน รวมถึงช่วงเวลาที่คุณจะต้องจ่ายหนี้ เมื่อทราบข้อมูลเหล่านี้หมดแล้ว สิ่งที่คุณต้องให้ความสนใจในลำดับถัดไปคือ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ค่าอาหาร ของใช้ภายในบ้าน รวมถึงหนี้บ้าน

แม้ว่าคุณจะไม่สามารถทำให้หนี้หายไปในเวลาสั้น ๆ ได้ แต่คุณสามารถวางแผนจัดการกับหนี้ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันมากที่สุดก่อน โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย และปากท้องที่ต้องกินอิ่มทุก ๆ วัน

ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นก็ควรตัดออกไปให้ได้มากที่สุด เช่น ค่าเสื้อผ้า อาหารราคาแพง หรือสินค้าที่มีความฟุ่มเฟือยอื่น ๆ รวมถึงพยายามไม่ดึงเงินจากเงินที่จะเตรียมเพื่อเกษียณอายุมาใช้ แต่ให้ใช้เงินจากส่วนอื่น ๆ ที่เก็บไว้ในยามฉุกเฉินแทน

ทั้งนี้ไม่ใช่แค่การพยายามจัดการกับหนี้เก่าเท่านั้นที่มีความสำคัญ แต่การไม่ก่อหนี้ใหม่ก็สำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น จนคุณอาจสามารถกลับเข้าไปทำงานได้ตามปกติแล้ว คุณควรสร้างวินัยทางการเงินที่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นเพิ่ม

2.ค่อย ๆ ใช้หนี้ต่อไป อย่าหยุด 💹

ถึงแม้ว่ารายได้ของคุณจะหายไปบางส่วนเพราะถูกลดเงินเดือน หรือไม่มีรายได้เลยเพราะตกงาน แต่หากคุณยังพอมีเงินที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างเพียงพอ คุณสามารถจัดสรรเงินเหล่านั้นมาเพื่อใช้หนี้บางส่วนได้

แต่อย่าลืมว่าหนี้ทุกอย่างอาจไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ให้หมดในเวลาเดียวกัน หนี้ที่คุณควรให้ความสนใจคือหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ๆ จะกลายเป็นว่าหนี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอย่างหนี้เพื่อการศึกษา สามารถค่อย ๆ ทยอยจ่ายคืนไปเรื่อย ๆ ได้

แต่เรื่องบ้านและรถยนต์ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน อย่ามัวแต่พะวงกับหนี้บัตรเครดิต จนลืมสิ่งที่เป็นพื้นฐานให้กับชีวิตอย่างบ้านและรถยนต์ หากถูกยึดไปคุณอาจไม่มีที่อยู่อาศัย และใช้ชีวิตอย่างยากลำบากกว่าเดิมได้

3.มองหามาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล 🏦

สำรวจดูมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนของรัฐบาล เช่น มาตรการเราไม่ทิ้งกันที่จะมอบเงินช่วยเหลือให้กับบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อน เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม

ส่วนคนที่เป็นแรงงานอยู่ในระบบประกันสังคม หากถูกเลิกจ้างหรือพักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับเงินเดือน เพราะบริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็สามารถขอรับเงินช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคมได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้กับประชาชนทางอ้อม โดยเฉพาะการคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำปะปา รวมถึงให้สิทธิ์ในการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือฟรี แม้ว่าจะดูเป็นเงินจำนวนไม่มากนักแต่ก็สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้ เรียนรู้และรักษาสิทธิประโยชน์ส่วนตัวบ้าง

4.ปรึกษาธนาคารตรง ๆ อย่าปิดบัง 🎎

ในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนี้ หลายธนาคารได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคาร ทั้งการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือเพียง 5% การพักชำระหนี้บางประเภทชั่วคราว รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ย

ซึ่งข้อมูลการช่วยเหลือของธนาคารคุณสามารถติดตามได้จากหน้าเว็บไซต์ของแต่ละธนาคาร ซึ่งจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป โดยบางมาตรการจะมีผลบังคับใช้กับลูกหนี้ของธนาคารทุกราย แต่บางมาตรการอาจต้องอาศัยการติดต่อเข้าไปเพื่อขอใช้มาตรการความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตามการติดต่อธนาคารเพื่อปรึกษาปัญหาทางการเงินเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด หากธนาคารรู้สถานะทางการเงินของคุณ ว่าคุณได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธนาคารจะได้ร่วมกันกับคุณในการหามาตรการเพื่อช่วยเหลือในการผ่อนชำระหนี้ได้อย่างดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มา – Money, สำนักงานสถิติแห่งชาติ