เทคนิคปลดหนี้ให้มีเงินออม ?
แนวคิดหนึ่งที่ทำให้หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการต่อสู้กับปัญหาหนี้สิน คือ มีหนี้แล้วจะออมเงินไม่ได้ เมื่อมีรายได้เข้ามาแล้วก็ต้องรีบนำไปชำระหนี้ทันที มันจะได้หมดหนี้เร็ว ๆ หมุนวนเข้ากระเป๋าซ้าย จ่ายออกกระเป๋าขวาอยู่หลายปี สุดท้ายหนี้ยังมีอยู่ แต่คุณภาพชีวิตแย่ลงกว่าเดิม ถ้าการแก้หนี้แบบวิธีเก่าไม่ได้ผล เรามาลองวิธีใหม่กันดูไหมจ๊ะ
“ออมเงินไปพร้อมกับการจ่ายหนี้” ➰ อย่าพึ่งทำหน้างง คิ้วขมวดแบบนั้น
เพื่อคลายข้อสงสัย เรามาลองคิดไปพร้อม ๆ กัน สมมติว่า เรากำลังมีภาระหนี้สินได้รับเงินมา 100% แบ่งไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน 40% ส่วนที่เหลืออีก 60% นำไปจ่ายชำระหนี้ทั้งหมด เรียกง่าย ๆ ว่าได้มา 100% ใช้ไป 100% นั่นเอง ไม่มีเงินออมฉุกเฉินไว้เลย (ควรเก็บเงินฉุกเฉินไว้ 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่าย)
ถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ถูกให้ออกจากงานกะทันหัน เมื่อไม่มีงานก็ขาดรายได้ และไม่มีเงินออม แล้วในช่วงระหว่างที่รอหางานใหม่ เราจะนำเงินส่วนไหนมาใช้จ่ายส่วนตัวและจ่ายหนี้รายเดือน สุดท้ายหนีไม่พ้นการกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย ซึ่งเป็นการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะสาเหตุนี้ทำให้เราควรออมเงินในขณะที่ยังมีหนี้เพื่อจะได้ไม่เป็นหนี้ซ้อนหนี้โดยใช้เทคนิค 4 ข้อนี้
1. ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ? วิธีที่ทำให้เรามีเงินเพิ่มเร็วที่สุดและทำได้ทันที คือ การประหยัด เริ่มจากจดรายการค่าใช้จ่ายทั้งหมดว่า มีรายจ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวันและรายจ่ายเพื่อความบันเทิงอะไรบ้าง แล้วตัดรายการที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยออกไป เช่น ช้อปปิ้ง สังสรรค์กับเพื่อน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ท่องเที่ยวกลางคืน ฯลฯ เพื่อให้เหลือเฉพาะรายจ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น
2. แยกหนี้ดีและหนี้ไม่ดี ⚠ เมื่อเราจดรายการหนี้สินทั้งหมดออกมาแล้ว ทำให้เรารู้จักพฤติกรรมการใช้เงินของตนเองมากขึ้น รู้สาเหตุการเกิดหนี้ ก่อนเริ่มแก้ปัญหาหนี้ควรแบ่งหนี้ออกเป็น 2 ส่วน คือ หนี้ดี (หนี้ที่สร้างรายได้กลับมาให้เรา) และหนี้ไม่ดี (หนี้ที่ไม่สร้างเงินกลับมาให้เรา) จะทำให้เราจัดการหนี้ได้ดีขึ้น
สมมติว่า หนี้สินนั้นเกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อปล่อยเช่า จัดว่าเป็น “หนี้ดี” นอกจากเราได้ค่าเช่ามาผ่อนทรัพย์สินแล้ว มูลค่ายังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ได้รับกำไรจากการขายอีกด้วย ในขณะที่ “หนี้ไม่ดี” นั้นเกิดจากการใช้เงินซื้อสิ่งของเพื่อความสุขต่าง ๆ เช่น ซื้อมือถือใหม่ กินก่อนผ่อนทีหลัง ช้อปปิ้ง เป็นต้น
ถ้าช่วงเวลาหนึ่งชีวิตของเราต้องสะดุดจนกลายเป็นวิกฤตทางการเงินในครอบครัว หากเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้น ๆ เราก็ยังเก็บส่วนของหนี้ดีไว้ได้ แล้วขายหนี้ไม่ดี เช่น ขายเสื้อผ้าเก่า ขายกระเป๋ากับรองเท้าเพื่อให้เรามีเงินมาใช้จ่ายในระยะสั้นได้ แต่ถ้าหนี้สินลุกลามใหญ่โต เราจึงค่อยมานั่งคิดว่าจะขายทรัพย์สินที่เป็นส่วนของหนี้ดีเพื่อมาชำระหนี้ก้อนโตนั้นหรือไม่
3. เข้าใจหนี้ของตนเอง ? เขียนสรุปหนี้สินทั้งหมดให้อยู่ในกระดาษแผ่นเดียวกัน จะได้เห็นภาพรวมว่าหนี้ของเราเป็นแบบไหน เพื่อหาแนวทางการแก้ไข เช่น ในกรณีหนี้ระยะสั้นหรือระยะยาว ถ้าส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้น มีรายการผ่อนรายเดือนมากกว่ารายได้ ทำให้สภาพคล่องในระยะสั้นหายไปอาจจะปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการขยายเวลาชำระหนี้ออกไปให้นานขึ้น วิธีนี้จะทำให้เราผ่อนต่อเดือนลดลง รู้เวลาการผ่อนที่แน่นอน ใช้จ่ายคล่องขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ต้องทำใจยอมรับด้วยว่าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่มากขึ้นด้วย
4. ขอคำปรึกษาจากเจ้าหนี้ ? เมื่อมีปัญหาหนี้อย่าหนี ให้เผชิญหน้ากับมัน เพราะเจ้าหนี้ก็อยากได้รับเงินคืน ถ้าไปขอคำปรึกษาจากเจ้าหนี้ให้ช่วยแก้ปัญหาก็อาจจะได้หาทางออกร่วมกันได้ แต่เราควรเตรียมตัวด้วยการหาข้อมูลไปต่อรอง เพื่อที่เราจะได้รับประโยชน์จากการเจรจาให้ได้มากที่สุด
ตัวอย่าง ถ้าเราเป็นหนี้บัตรเครดิตกับธนาคาร 3 แห่ง แล้วต้องการจะปิดบัตรทุกใบให้เหลือเจ้าหนี้รายเดียว โดยใช้สินเชื่อส่วนบุคคล เราก็ต้องรู้ว่าตนเองจะกู้เท่าไหร่และที่ไหนให้ผลประโยชน์กับเราได้มากที่สุด โดยใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปเจรจากับเจ้าหนี้
เราสามารถมีเงินออมพร้อม ๆ กับมีหนี้ได้ อย่างน้อยก็ควรมีเงินออมฉุกเฉินเพื่อจะได้ไม่สร้างหนี้ซ้ำซ้อน ส่วนเทคนิคการแก้หนี้ก็เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งผู้อ่านควรนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์หนี้ของตนเอง “well-wisher” ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ ?