มาดู 5 ขั้นตอนการปลดหนี้ให้ได้ผลกันเถอะ

Tavatchai Engdebt

บัญญัติ 5 ประการ เพื่อการปลดหนี้ให้ได้ผล 💁

“การออม” จะประสบความสำเร็จไปไม่ได้เลยถ้าขาดวินัย “การปลดหนี้” ก็เช่นเดียวกัน… หากวินัยในการชำระ หย่อนยานเมื่อไหร่ เส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงินคงตีบตัน

หากวันนี้… คุณกำลังถูกภาระหนี้สินรุมเร้า ทำให้สุขภาพทางการเงินกระท่อนกระแท่น เช่น เงินเดือนออกมา 25,000 บาท แต่ต้องกันเงินไว้จ่ายหนี้บัตรเครดิต ผ่อนรถ สินเชื่อส่วนบุคคล เบ็ดเสร็จแล้วเดือนละ 20,000 บาท เลิกคิดไปได้เลยที่จะเหลือไว้ออม เพราะยุคข้าวยากหมากแพงแบบนี้เงินแค่ 5,000 บาท เผลอ ๆ ใช้ได้ไม่ถึงครึ่งเดือนก็เกลี้ยงกระเป๋า จนต้องไปกู้ยืมเงินมาเสริมสภาพคล่องเพื่อใช้ให้ชนเดือน

นี่เป็นสัญญาณร้ายที่กระพริบเตือนว่า สุขภาพทางการเงินของคุณอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่เต็มที ฉะนั้น สิ่งที่ควรลงมือทำในวันนี้คือ จัดการกับต้นเหตุอย่างจริงจังเสียที หลายคนอาจจะรู้สึกว่า… การปลดหนี้นั้นยากเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีอะไรยากเกินความสามารถ ค่อย ๆ ปลดเปลื้องไปทีละนิด จะได้สัมผัสความรู้สึกว่ายกภูเขาออกจากอกนั้นเป็นอย่างไร ใครยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองทำตามบัญญัติ 5 ประการสำหรับการจัดการหนี้ดังต่อไปนี้

1.หยุดสร้างหนี้เพิ่ม 🙅

ถ้าในแต่ละเดือนคุณต้องจ่ายหนี้เดือนละ 20,000 บาท ทั้งที่เงินเดือนแค่ 25,000 บาท นั่นเท่ากับว่าสิ่งแรกที่คุณต้องทำคือประกาศเป็นศัตรูกับหนี้ทุกประการเช่น อยากได้มือถือรุ่นใหม่ใจจะขาด คุณอาจจะคิดว่าถ้าใช้วิธีผ่อนรายเดือน 12 เดือนก็มีหนี้เพิ่มอีกแค่เดือนละ 2,000 บาทเท่านั้นเอง อย่าเด็ดขาด… ถ้ามัวแต่คิดแบบนี้คุณก็จะก้าวไม่พ้นจากกับดักแห่งหนี้แน่นอน

หนทางที่จะปลดเปลื้องหนี้ได้ ต้องท่องให้ขึ้นใจว่า ไม่ว่าหนี้หน้าไหนก็อย่าได้ไปข้องแวะด้วย จะเป็นหนี้นอกหรือในระบบ จะก้อนเล็กหรือใหญ่ก็ช่าง ถ้าผ่านด่านแรกนี้ไปได้ ประตูสู่อิสรภาพทางการเงินก็เปิดรอคุณแล้ว

2.รัดเข็มขัด 🙆

หยุดสร้างหนี้เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณต้องรู้จักใช้จ่ายให้เป็น ควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รีดค่าใช้จ่ายที่เป็นไขมันส่วนเกินออกให้มากที่สุด เรียกว่าในพจนานุกรมของคุณต้องมีแต่คำว่า“ประหยัด” และ “มัธยัสถ์” พร้อมลบคำว่า “ฟุ้งเฟ้อ” และ “ไม่จำเป็น” ออกไปโดยเร็ว

วิธีรัดเข็มขัดก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพียงแค่คุณลองลิสต์รายการใช้จ่ายประจำเดือนออกมาทุกอย่างก็จะฟ้องว่า… มีค่าใช้จ่ายตรงไหนบ้างที่บางทีอาจไม่จำเป็นกับชีวิตคุณเท่าไหร่ แต่คุณก็เสียสตุ้งสตางค์ให้กับสิ่งเหล่านี้แทบทุกเดือน เช่น ค่าเคเบิ้ลทีวีเดือนละหลายพันบาท ทั้งที่ความจริงแทบไม่ได้ดูอะไรเท่าไหร่ เพราะกว่าจะกลับถึงบ้านก็ดึกดื่นค่อนคืนแล้ว อันนี้คงต้องทบทวนว่า ถ้าไม่จำเป็นหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็อาจตัดรายจ่ายตรงนี้ออก สนองนโยบายรัดเข็มขัด อย่างน้อยงบดุลของคุณในฝั่งรายได้ก็มีเงินเพิ่มขึ้นอีกหลายพันเชียว

3.เปลี่ยนนิสัยการใช้จ่าย 🙋

ข้อนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวสุด บางคนอาจบอกว่ายาก ขณะที่บางคนอาจบอกว่าง่าย เพราะคำว่า “นิสัย” นี่แหละเปลี่ยนยากเสียเหลือเกิน แต่ยามที่สุขภาพทางการเงินย่ำแย่ หนี้ท่วมแบบนี้ ถ้าคุณยังใช้นิสัยจับจ่ายเพลินมือแบบเดิม ๆ เห็นทีจะพ้นกับดักหนี้ยาก

เข้าใจอยู่หรอกว่าชีวิตคนโสดหรือไม่โสดก็ตามที มักจะมีเรื่องพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเป็นการคลายเครียด แต่ถ้าหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ คุณยังปาร์ตี้เดือนละ 3 คืน ทั้ง ๆ ที่หนี้ท่วมหัว อันนี้ก็อาจจะเครียดยิ่งกว่าเดิม ทางที่ดีช่วงจัดการหนี้ ควรลด ละ เลิกซะ ปรับเปลี่ยนนิสัยใช้จ่ายแบบเดิม ๆ เชื่อสิว่าช่วยได้เยอะทีเดียว

4.มุ่งมั่นกำจัดหนี้เก่า 🙍

เมื่อรัดเข็มขัดแล้ว หยุดสร้างหนี้แล้ว แถมเปลี่ยนนิสัยใช้จ่ายด้วยในเวลาเดียวกันคุณต้องมุ่งมั่นกำจัดหนี้ก้อนเก่าอย่างตั้งใจจริงด้วยบางคนอาจจะบอกว่าขั้นตอนนี้นี่เองที่ยากที่สุด

มาถึงตรงนี้… ถ้าหนี้ก้อนใหญ่ คุณอาจต้องตั้งสติให้มั่น หาวิธีปลดหนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ถ้าเป็นหนี้นอกระบบเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็อาจต้องหาทางกู้ในระบบออกไปปลดหนี้นอกระบบก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้น้อยลง จากนั้นค่อยมาผ่อนชำระกับสถาบันการเงิน

5.อย่าปล่อยให้ขึ้นบัญชีดำ 🙎

ไม่ว่าคุณจะหนี้มากหนี้น้อย ขอให้รู้ไว้ว่ากฎเหล็กของการเป็นหนี้คือ อย่าปล่อยให้ชื่อของตัวเองหลุดไปโผล่ในบัญชีดำของสถาบันการเงินต่าง ๆ เด็ดขาด เพราะสถาบันการเงินจะส่งข้อมูลของคุณให้กับเครดิตบูโร และนั่นอาจทำให้เครดิตทางการเงินของคุณล่มสลายตามไปด้วย

เคยมีตัวอย่างของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ผ่อนชำระเครื่องไฟฟ้ารายเดือนล่าช้า เพราะเห็นว่าเป็นเงินเพียงไม่กี่ร้อยบาท แต่หลังจากนั้นเขาจะไปทำธุรกรรมทางการเงินในด้านต่าง ๆ ก็ล้วนเผชิญปัญหาและติดขัดไปหมด เพราะความที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นี่เอง

ฉะนั้น หากคุณเป็นหนี้บัตรเครดิตเงินกู้ส่วนบุคคล หรืออะไรก็ตาม ถ้าเริ่มมีปัญหาในการผ่อนชำระ หรือทำท่าว่าจะไปไหนไม่รอด อันดับแรกเลยคุณต้องเข้าไปหารือกับสถาบันการเงินเพื่อบอกเล่าถึงความจำเป็นในการผัดผ่อนของคุณ และความตั้งใจจริงในการชำระหนี้

หากคุณลงมือทำตามบัญญัติ 5 ประการข้างต้น เชื่อเหลือเกินว่า… คุณจะปลดเปลื้องพันธนาการแห่งหนี้ได้ในที่สุด