? ความฉลาดทางการเงิน ?

adminfinbook

? ความฉลาดทางการเงิน ?

ความฉลาดนั้นมีหลายด้าน
“บางคนฉลาดทางด้านการเรียนรู้ สอบได้ที่อันดับต้น ๆ ของชั้นเรียนเสมอ”
“บางคนฉลาดทางด้านการเข้าสังคม มีเพื่อนฝูงเยอะ ปรับตัวเก่ง เป็นที่รู้จักของคนมากหน้าหลายตา”
“บางคนฉลาดในการดูแลสุขภาพ สามารถที่จะดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย”
…แต่จะมีใครบ้างที่จะมีความฉลาดทางด้านการเงิน ?

วันนี้ “well wisher” จึงขอนำ 4 ความฉลาดทางด้านการเงินจากหนังสือ ความฉลาดทางการเงินของโค้ชหนุ่ม มาสรุปให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และสามารถเอาตัวรอดได้ มีเงินเก็บไปจนถึงยามเกษียณ และแน่นอนว่าแอดเองก็จะนำไปใช้ด้วยเช่นกัน

? 1.ฉลาดหารายได้

การหารายได้ในโลกการเงินนั้นมีอยู่ 2 ทางด้วยกัน

? ทางที่ 1 คือรายได้จากการทำงาน เป็นรายได้ที่จะได้เมื่องานแล้วเสร็จ ถ้าไม่ได้ทำงานก็ไม่ได้เงินนั่นเอง เช่น งานประจำ หรืองานรับจ้างทั่วไป

? ทางที่ 2 คือรายได้จากทรัพย์สิน (Passive Income) คือรายได้จากทรัพย์สินที่เราเป็นเจ้าของ

ซึ่งเราในปัจจุบัน เราไม่ควรเลือกรายได้ทางใดทางหนึ่ง แต่ควรที่จะทำควบกันไปเลย ทั้งรายได้จากการทำงานและรายได้จากทรัพย์สินเพราะเมื่อวันใดรายได้ทางนึงหายไป ก็จะยังมีรายได้อีกทางค้ำจุนเอาไว้อยู่นั่นเอง

? 2.ฉลาดบริหารการใช้จ่าย

ข้อนี้เป็นหัวใจสำคัญของความมั่งคั่ง เพราะคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า “ยิ่งหาเงินได้มาก ๆ ก็จะยิ่งรวย” แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ หาเงินได้มาก ก็ต้องบริหารเงินนั้นให้เป็นด้วย

โดยสามารถบริหารใช้จ่ายให้ดีได้ด้วย 3 เครื่องมือนี้

-ประมาณการรายรับรายจ่าย ช่วงต้นปีลองพยากรณ์รายรับ-รายจ่ายของเราไปอีก 12 เดือนข้างหน้า ว่าแต่ละเดือนเราจะได้เงินและรายจ่ายแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง และลองมาหักล้างกันเพื่อดูเงินที่เหลืออยู่

-งบดุลส่วนบุคคล หมั่นลิสต์รายการทรัพย์สิน หนี้สิน อยู่ตลอดเวลา ถ้ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ก็การันตีได้เลยว่าชีวิตเราลำบากแน่นอน

-จดบันทึกการใช้จ่ายประจำวัน ซื้ออะไรมา กินอะไรมาวันนี้ ก็จดบันทึกไปเลยว่าเราใช้จ่ายอะไรไปบ้าง เพื่อไปตรวจสอบว่าเราใช้จ่ายตรงตามที่เราประมาณการไว้หรือไม่

“เริ่มปรับตั้งแต่ตอนนี้เพราะการใช้จ่ายในวันนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของเราในวันข้างหน้า”

? 3.ฉลาดออม

การออมนั้นเป็นมากกว่านิสัยของคนรวย เรียกว่าเป็น”สันดาน”เลยก็ว่าได้

สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถออมเงินได้อยู่หมัดเลยก็คือ “ต้องออมก่อนใช้จ่าย”
เมื่อมีรายได้เข้ามา-เงินออม = เหลือใช้จ่าย เพื่อให้มั่นใจได้เลยว่าเมื่อมีรายได้เข้ามาเราจะมีเงินออมอย่างแน่นอน เริ่มต้นจากการออมเงิน 10% ของเงินเดือน และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ
ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราต้องออมเงินมีดังนี้

-เงินสำรองฉุกเฉิน 6 เดือน เงินก้อนแรกที่เราควรต้องมีเลยก็คือเงินสำรองฉุกเฉิน เผื่อเกิดเหตุการณ์ตกงาน หรือขาดรายได้ เราจะได้มีเงินก้อนนี้มาช่วยแบ่งเบาภาระ
ถ้ามีภาระค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท เราต้องมีเงินเก็บก้อนนี้ 60,000 บาทนั่นเอง

-เงินสะสมเพื่อการเกษียณ ให้เริ่มวางแผนสะสมเงินเพื่อการเกษียณตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน ไปจนถึงวันที่เราเกษียณ ยิ่งเริ่มเร็ว ก็ยิ่งเหนื่อยน้อย

-เงินสะสมเพื่อสิ่งที่ต้องการ เมื่อเรามีทั้งเงินสำรองฉุกเฉินและสะสมเงินไว้สำหรับการเกษียณเรียบร้อยแล้ว ต่อมาคือการนำเงินนั้นไปลงทุน เพื่อสิ่งสำคัญ ๆ เช่น งานแต่งงาน ซื้อบ้าน ซื้อรถ

⚒️ 4.ฉลาดลงทุน

การลงทุนมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ การลงทุนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราไปถึงอิสรภาพทางการเงิน

โดยช่องทางการลงทุนมีทั้งหมด 4 ช่องทางด้วยกัน

-ตราสารทางการเงิน เป็นการลงทุนโดยการให้เงินทำงานแทน
เช่น เงินฝาก กองทุนรวม หุ้น ข้อดีคือสามารถลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อย ๆ ได้ และซื้อขายเปลี่ยนมือได้ง่าย

-อสังหาริมทรัพย์ เป็นการลงทุนเพื่อการเก็งกำไร และปล่อยเช่าเพื่อรับกระแสเงินสด
เช่น บ้าน คอนโด ห้องเช่า พื้นที่ทำกิน ข้อดีคือมูลค่าที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน เป็นทรัพย์สินที่เราสามารถควบคุมราคาได้

-การทำธุรกิจ เป็นช่องทางที่จะทำให้เราได้กำไรสูงมาก ใช้เงินน้อยอาจจะได้เงินเยอะ
ข้อดีคือเราสามารถควบคุมได้หมดเลย แต่จะมีข้อเสียคือจะต้องยุ่งกับคน ทั้งลูกค้า ลูกจ้างและหน่วยจากทางภาครัฐ

-ทรัพย์สินทางปัญญา ค่าลิขสิทธิ์
เช่น หนังสือ หนัง เพลง อย่างในปัจจุบันใครมีความรู้อะไร เริ่มนำความรู้ตรงนั้นออกมาขาย ข้อดีก็คือใช้เงินลงทุนต่ำ

?ความฉลาดทางการเงินนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่จะอยู่กับเราไปชั่วชีวิต เกษียณแล้วก็ยังต้องบริหารจัดการเงิน ถ้าเรามีความฉลาดครบทั้ง 4 ข้อนี้ แอดมั่นใจได้เลยว่าเราจะมีกินมีใช้ และไปถึงอิสรภาพทางการเงินได้อย่างแน่นอน

ที่มา : หนังสือความฉลาดทางการเงิน