วางแผนเกษียณตั้งแต่ 30 ชีวิตก็สบายขึ้น

adminfinbook

แผนการเงินของคนวัย 30 รับรองไม่ถังแตกตอนแก่ ??

ช่วงวัย 30 เป็นช่วงวัยที่เริ่มเข้าสู่ช่วงความมั่นคงและแสวงหาความมั่งคั่งเพิ่ม เป็นช่วงที่มีรายได้มากขึ้นและมีเงินเก็บออม แผนการเงินของคนวัย 30 จะเป็นอย่างไรบ้าง ตาม “well-wisher” มาดูกันกันได้เลย

? วางเป้าหมายและแผนการในชีวิต

คนในวัย 30 นี้ จะเริ่มมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนมากขึ้น เนื่องด้วยเริ่มมีความมั่งคั่งมากยิ่งขึ้น จากรายได้ที่มากขึ้นตามอายุการทำงาน และจากการเก็บออมเงินตลอดช่วงวัย 20 ที่ผ่านมานั่นเอง บางคนอาจจะมีเป้าหมายในการแต่งงานสร้างครอบครัว ส่วนในบางคนอาจจะมีเป้าหมายในการลงหลักปักฐานสร้างความมั่นคงในชีวิต อย่างเช่น การซื้อบ้าน ซื้อรถ เป็นต้น แต่ไม่ว่าเป้าหมายชีวิตของคุณจะเป็นเช่นไร ก็ต้องเริ่มวางแผนได้แล้วในช่วงวัย 30 นี้

? แบ่งเงินเก็บสำหรับการสร้างครอบครัว

เมื่อเข้าสู่วัย 30 ก็ถึงเวลาอันสมควรที่คุณจะแต่งงานสร้างครอบครัว ทำให้คุณต้องเตรียมสร้างรากฐานความมั่นคงให้กับคู่ครองและบุตรที่กำลังจะเกิดมาในอนาคต อย่างเช่น เริ่มเก็บเงินและแบ่งเงินเก็บส่วนหนึ่งจากที่เคยเก็บมา เอาไว้เพื่อใช้สำหรับการแต่งงาน เช่น ค่าสินสอด ค่าจัดงานต่าง ๆ รวมไปถึงการซื้อบ้านเอาไว้เป็นเรือนหอ ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของคุณในอนาคต และจะตกเป็นมรดกของบุตรต่อไป โดยการเลือกซื้อบ้านนั้นก็ควรเลือกในที่ที่เดินทางสะดวก ใกล้สถานพยาบาล ใกล้แหล่งสาธาณูปโภค นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการเก็บเงินส่วนที่เป็นค่าเลี้ยงดูและการศึกษาของบุตรด้วย

? เรื่องฉุกเฉินต้องมีแผนรับมือ

ไม่เพียงแต่ช่วงวัย 20 เท่านั้นที่จะต้องมีเงินสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพราะเรื่องฉุกเฉินนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทำให้คนทุกคนทุกช่วงอายุ ต้องเตรียมเงินก้อนเอาไว้สำหรับเรื่องฉุกเฉิน โดยปกติจะต้องมีไว้เป็นเงินประมาณ 3-6 เท่าของรายรับต่อเดือนของคุณ หากคุณตกงานกระทันหัน ทำให้รายได้ไม่มีในขณะที่รายจ่ายยังคงเดิม คุณจะยังสามารถใช้ชีวิตและหางานใหม่ต่อไปได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองด้วยการเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือไม่ต้องลำบากผู้อื่นในการไปขอหยิบยืมเงินเขา

? พยายามใช้หนี้ให้หมด

หนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ หนี้การศึกษา ก่อนที่คุณจะย่างเข้าสู่วัย 40 ควรจัดการปลดหนี้สินเหล่านี้ให้หมด ส่วนหนี้บ้านนั้นเป็นหนี้ก้อนใหญ่มาก หากไม่สามารถปิดหนี้บ้านได้ก่อนช่วงวัย 40 ก็ไม่เป็นไร แต่หากหน้าที่การงานของคุณก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น และสามารถปลดหนี้บ้านได้หมดก่อนก็จะถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะในวัย 40 คุณจะมีอิสระทางการเงินมากยิ่งขึ้น

? เงินเก็บเพื่อเกษียณอายุ

แน่นอนว่าเงินเก็บออมส่วนนี้ ยังคงเป็นส่วนที่ต้องเก็บออมเอาไว้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเงินก้อนใหญ่มาก ก้อนใหญ่แค่ไหนก็ลองเปรียบเทียบกับเงินในการซื้อบ้านนั่นแหละค่ะ ขนาดหนี้บ้านยังต้องใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปีกว่าจะหมด การเก็บออมเงินเกษียณเองก็เช่นกัน ซึ่งยิ่งต่อเดือนคุณเก็บน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องใช้เวลานานเท่านั้น หากคุณนึกภาพไม่ออกเราจะขอยกตัวอย่างให้คุณเห็นกันชัด ๆ

หากคุณคิดจะเกษียณแบบสมถะพอเพียง วางแผนเอาไว้ใช้จ่ายช่วงเกษียณเดือนละ 15,000 บาท อายุโดยเฉลี่ยของมนุษย์คือ 80 ปี ก็ให้นำ 15,000 บาท X 12 เดือน X 20 ปี = จำนวนเงินที่คุณจะต้องเก็บให้ได้เพื่อการเกษียณ 3,600,000 บาท หากคุณเก็บเงินตั้งแต่งานแรกที่ทำเป็นจำนวนเดือนละ 5,000 บาท คุณจะต้องใช้เวลานานถึง 60 ปีเลยทีเดียว จึงจะเก็บเงินได้ครบถ้วน เห็นไหมคะว่ามันใช้เวลานานเป็นอย่างมาก

แต่การที่จะเก็บเงินก้อนนั้นโดยใช้ระยะเวลา 60 ปี มันคงเป็นไปไม่ได้ คุณคงตายไปก่อนที่จะเก็บเงินได้ครบเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ในช่วงวัย 30 ที่คุณได้เงินเดือนมากยิ่งขึ้น ก็ควรเพิ่มการเก็บเงินในส่วนนี้ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ คนวัย 30 จะมีเงินเก็บออมสำหรับเกษียณอายุส่วนหนึ่งที่เก็บมาตั้งแต่ช่วงวัย 20 ก็ให้แบ่งเงินส่วนนี้ไปลงทุนในแบบต่าง ๆ เพื่อทำให้เงินต่อเงินงอกเงยขึ้นไป ช่วยร่นระยะเวลาในการเก็บเงินเกษียณลงไป

? ประกันต่าง ๆ ต้องไม่ละเลย

แม้ว่าคุณจะทำตามคำแนะนำต่าง ๆ ดังที่กล่าวเอาไว้ข้างต้นแล้ว แต่ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่มากมาย หากคุณล้มป่วยลงไปล่ะ หากบ้านเกิดไฟไหม้หรือน้ำท่วมวอดวายทั้งหลังล่ะ หรือที่เลวร้ายที่สุด หากคุณจากไปก่อนวัยอันควรล่ะ ยิ่งคุณเป็นหัวหน้าครอบครัวด้วย คู่ชีวิตและบุตรของคุณจะทำอย่างไร? ประกันต่าง ๆ นี่แหละที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงในส่วนนี้ได้

บ้านและรถยนต์ก็ควรทำประกันเอาไว้ หากเกิดเหตุร้ายแรงก็จะได้มีเงินชดเชยเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยและรถยนต์ใหม่ ในด้านสุขภาพ ทุกคนในครอบครัวควรจะทำประกันสุขภาพเอาไว้ หากเจ็บป่วยร้ายแรงอะไรจะได้ไม่ต้องใช้เงินเก็บหรือต้องกู้หนี้ยืมสินในการรักษา โดยในปี 2560 ประกันสุขภาพสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้แล้วด้วย ช่วยให้คุณประหยัดเพิ่มขึ้นอีก และสุดท้ายประกันชีวิต ที่คุณและคู่ชีวิตควรจะทำเอาไว้ หากคุณทั้งสองเป็นอะไรไป บุตรจะได้มีเงินประกันเอาไว้ไม่ต้องลำบากนะ

และนี่คือแผนการเงินคร่าว ๆ สำหรับคนวัย 30 ที่ “well-wisher” ? นำมาเสนอให้กับคุณผู้อ่านกันในวันนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยคุณผู้อ่านให้มีแผนการเงินที่ดีมากยิ่งขึ้นนะคะ หากคุณผู้อ่านท่านใดสนใจอ่านเคล็ดลับทางด้านการเงินและข่าวสารเพิ่มเติม สามารถกด Subscribe เพื่อรับจดหมายข่าวจากเราได้ทุกวันค่ะ ?