? เงินเดือน 15,000 กับการใช้ชีวิตใน กทม. ?

Tavatchai Engfinbook

? เงินเดือน 15,000 กับการใช้ชีวิตใน กทม. ?

เงินเดือน 15,000 บาท จะพอใช้ได้อย่างไรใน กทม.? ในเมื่อชีวิตเราเป็นคนที่มีค่า ค่ากิน ค่าเครื่องใช้ ค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนรถ ค่าเดินทาง และเงินส่งที่บ้าน

กทม.ถูกจัดให้เป็นเมืองที่ค่าครองชีพสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน เป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์เท่านั้น (ข้อมูลจากนัมเบโอ เว็บไซต์ฐานข้อมูลค่าครองชีพโลก) แต่ “รายได้ต่อหัว” ของเรากับสิงคโปร์ต่างกันหลายเท่าตัว

แล้วเราจะใช้เงินเดือน 15,000 บาทอย่างไรให้ “พอ” และมีเหลือเก็บ

4 กฎเหล็กสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน และมีฐานเงินเดือน 15,000 บาท ให้เพื่อน ๆ นำไปทำตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความอยู่รอดในยุคที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นค่ะ

กฎข้อที่ 1: ห้ามใช้จ่ายเกินรายรับ ?

ได้เงินเดือนเท่าไหร่ จงบริหารชีวิตไม่ว่าจะกิน อยู่ ใช้ เก็บให้พอในหนึ่งเดือนตามเงินเดือนที่ได้รับ

หลายคนมีรายได้เป็นของตัวเองแล้วแต่อาจจะต้องรบกวนขอเงินพ่อแม่ หยิบยืมเพื่อนฝูง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ เงินเดือนน้อยไม่พอใช้

บางคนไม่ยืมใครแต่ก็ใช้วิธีผิด ๆ ใช้ชีวิตแบบรูดบัตรเครดิตไปก่อน ผ่อนทีหลัง ถึงเวลาจ่ายก็จ่ายขั้นต่ำ ดอกเบี้ยสะสมเป็นปัญหาทางการเงินที่เรื้อรังขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงแรกอาจจะรู้สึกสบายไม่เดือดร้อน แต่นานไปบอกได้เลยว่า ชีวิตการเงินคุณพบกับ “หายนะ” แน่นอนค่ะ

ดังนั้น เมื่อทราบว่าได้รับเงินเดือนเท่าไหร่ให้จัดสรรชีวิต โดยลิสต์รายการค่าใช้จ่ายแบ่งเป็นหมวดหมู่ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าสังสรรค์เพื่อความบันเทิง

หลังจากนั้น ให้กำหนดงบประมาณของค่าใช้จ่ายแต่ละส่วน เพื่อเทียบเคียงกับรายรับและจัดแบ่งให้สมดุล

ที่ขาดไม่ได้คือ จะออมเงินเดือนละเท่าไหร่ ห้ามมีข้ออ้างที่จะงดออมเด็ดขาด

ทุกรายการปรับได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคนค่ะ

กฎข้อที่ 2: ต้องออมก่อนใช้ ?

ถ้าเพื่อน ๆ เก็บเงินเพียงเดือนละ 1,500 บาท ต่อเนื่องทุกเดือนเป็นระยะเวลา 35 ปี ตั้งแต่อายุ 25 ปี จนถึงอายุ 60 ปี นำไปลงทุนได้ผลตอบแทนต่อปี 3 % จะมีเงินในบัญชีทั้งหมด 1.1 ล้านบาท เลยทีเดียวค่ะ

(จากสถิติในอดีตกองทุนหุ้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย10% หากลงทุนระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป)

นี่คือจุดเริ่มต้นง่าย ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าพลังของความมีวินัยสม่ำเสมอทำให้เงินเพียงหลักพันบาท กลายเป็นหลักล้านบาทได้อย่างสบาย

หากอาชีพการงานของเพื่อน ๆ โตขึ้น เงินเดือนก็ต้องมากขึ้นตามใช่มั้ยคะ และก็สามารถที่จะออมได้มากกว่า 1,500 บาทแน่นอน ถ้าเพื่อน ๆ ไม่ใจอ่อนถอนออกมาระหว่างทางเสียก่อนนะคะ

ดังนั้น ได้เงินเดือนแล้วให้ตัดออกมาเก็บออมก่อน ทำให้เป็นนิสัยตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน ค่อย ๆ ดูการเติบโตของเงิน แล้วเพื่อน ๆ จะเริ่มสนุกกับการเก็บออมและการบริหารเงิน

ช่วงแรกของการทำงาน อยากให้เพื่อน ๆ อย่าเพิ่งไปกังวลใจเรื่องช่องทางการลงทุนมากนัก พยายามสร้างวินัยให้ได้เสียก่อน เรื่องเครื่องมือการลงทุนเป็นเรื่องรอง พอฝึกวินัยได้เรื่องอื่นจะค่อย ๆ ง่ายขึ้นเองค่ะ

กฎข้อที่ 3: อย่าสร้างหนี้ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ?

รถก็อยากขับ บ้านก็อยากมี คอนโดก็อยากได้ เป็นเรื่องปกติที่อยากมีเมื่อทำงานหาเงินได้เป็นของตัวเอง แต่อย่าลืมว่า 3 สิ่งนี้ใช้เงินก้อนโตพอสมควร
รถอาจราคาไม่แพงเท่าบ้าน แต่ก็จะพ่วงด้วยภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามมาทั้งค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ประกัน ซ่อมบำรุง ฯลฯ
ส่วนบ้านเป็นที่ทราบดีว่า ราคาสูง และคนส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินสด ต้องทำเรื่องกู้สถาบันการเงินและมีระยะเวลาการผ่อนชำระที่ยาวนานถึง 20 – 30 ปี และแน่นอนหากไม่วางแผนให้ดี รีบร้อนสร้างหนี้ อาจเป็นภาระระยะยาวสร้างปัญหาทางการเงินได้

อีกข้อหนึ่งที่เพื่อน ๆ ต้องระมัดระวังให้มากคือ หนี้ที่เกิดจากการบริโภค เช่น หนี้จากบัตรเครดิต หลายคนเริ่มต้นทำงานด้วยฐานเงินเดือนที่สามารถสมัครบัตรเครดิตได้ ก็ใช้จนลืมตัวทำให้สุดท้ายแทนที่ชีวิตจะค่อย ๆ มั่นคงเติบโตขึ้นสุดท้ายกลับต้องมานั่งใช้หนี้ที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นทำงาน

กฎข้อที่ 4: ต้องมีรายได้มากกว่า 1 ทาง ?

ยุคนี้เป็นยุคที่เปิดกว้างให้เพื่อน ๆ สามารถหารายได้เพิ่มที่นอกเหนือจากงานประจำ โดยให้เริ่มที่ความถนัดของตนเอง อาจต่อยอดจากงานประจำ งานอดิเรก หรือสิ่งที่รักที่ชอบ แต่อย่าให้กระทบกับงานประจำที่ทำอยู่เท่านั้น และต้องไม่ใช้ทุนรอนสูงจนเกินไปค่ะ

บางคนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน บริษัทปิดตัว แต่ยังมีงานที่ 2 อาชีพที่ 3 รองรับ หรือแม้แต่อาชีพเสริมของบางคนกลับกลายเป็นอาชีพหลัก เป็นธุรกิจกิจการที่หล่อเลี้ยงครอบครัวได้มากกว่างานหลักเสียอีกค่ะ

บทสรุป

ปัญหาเรื่องการเงินแท้จริง ไม่ได้อยู่ที่มีเงินมากหรือน้อย แต่อยู่ที่การบริหารจัดการ

ปัจจัยภายนอกอย่างค่าครองชีพ เราไม่สามารถควบคุมได้ก็จริงค่ะ แต่เราสามารถควบคุมตนเองได้แน่นอน ขอแค่ให้คุณมี “วินัย” และ “อดทน” เท่านั้นเอง

Original by “well-wisher”