?ใช้เงินแบบเศรษฐีญี่ปุ่น Japanese style?

adminfinbook

?ใช้เงินแบบเศรษฐีญี่ปุ่น Japanese style?

คนที่ประสบความสำเร็จกับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จต่างกันตรงไหน? ความสามารถ? สติปัญญา? รูปร่าง หน้าตา? คนญี่ปุ่นมองว่า คนสองกลุ่มนี้แตกต่างกันที่ “วิธีคิด” ค่ะ ลองมาดู 4 วิธีคิดของผู้บริหาร นักธุรกิจญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จกันนะคะว่า คนกลุ่มนี้มีวิธีใช้เงินที่แตกต่างจากคนธรรมดาอย่างไร

?1. อย่าใช้เงินเพื่อรักษาภาพลักษณ์

กิโมโนที่มีราคาแพงจริง ๆ ด้านนอกจะดูเรียบธรรมดา แต่ด้านใน ทอเป็นลวดลายดอกไม้หรือลายมังกรละเอียดสวยงาม ทว่า คนภายนอกไม่สามารถทราบความงามเหล่านั้น มีแค่ผู้สวมใส่ที่รับรู้ถึงคุณค่าและความนุ่มสบายของชุดกิโมโนชุดนั้น

คนญี่ปุ่นมองว่า เราไม่จำเป็นต้องแสดงออกให้ผู้อื่นรู้ถึงฐานะ คนรวยไม่จำเป็นต้องใส่สร้อยทองเส้นใหญ่ ๆ หรือเพชรเม็ดโตเพื่อแสดงว่าฉันเป็นใคร เราเป็นคนธรรมดา คนอื่นจะได้ปฏิบัติกับเราแบบธรรมดา และเราจะได้รู้จักคนคนนั้นอย่างแท้จริง
 
จงอย่าใช้เงินเพื่อภาพลักษณ์ตัวเอง แต่จงใช้เงินเพื่อผู้อื่น

มันจะไม่มีที่สิ้นสุดหากเรามัวแต่มองว่า ฉันต้องถือกระเป๋ายี่ห้อนี้ ขับรถรุ่นนี้ ทานอาหารที่ร้านนี้ เพราะต้องการแสดงว่าฉันเป็นคนมีระดับ

ผู้บริหารญี่ปุ่นพาลูกน้องไปเลี้ยงอาหารค่ำที่ภัตตาคารหรู ไม่ใช่เพราะอยากให้ลูกน้องเห็นว่าตัวเองมีสตางค์ แต่เพราะต้องการแสดงความรู้สึกขอบคุณอย่างลึกซึ้งที่ลูกน้องร่วมเหนื่อยยากกันมา

เจ้าของธุรกิจสวมเสื้อผ้าแบรนด์ดัง เพราะรูปแบบแพทเทิร์นดี เนื้อผ้าดี ไม่ได้ใส่เพราะอยากให้คนเห็นโลโก้ของแบรนด์นั้นแล้วรู้ว่าตนมีปัญญาซื้อ

การใช้เงินไปกับสิ่งที่ตนเองรัก หรือเพื่อคนที่ตนเองรักจะทำให้เรามีอิสระและมีความสุขในการใช้เงินมากกว่าการใช้เงินเพื่อรักษาหน้าตาและภาพลักษณ์ของตนเองเพียงอย่างเดียว

?2. การใช้เงินคือการลงทุน

จงถามตัวเองว่า สิ่งที่เรากำลังจะใช้เงินต่อจากนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อเราในอนาคตหรือเปล่า

คนเรามักจะเผลอใช้เงินกับของมูลค่าเล็กน้อยไปอย่างง่ายดาย เช่น ค่าแท๊กซี่ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเครื่องเขียน แต่หากรวมกันแล้ว เงินจำนวนนั้นก็ไม่ใช่จำนวนน้อยเลย

จงถามตัวเองทุกครั้งก่อนจะซื้อของว่า ของที่ตัวเองจะซื้อนั้นมีประโยชน์จริงหรือเปล่า และเราจะได้อะไรกลับมาในอนาคต ไม่ว่าของสิ่งนั้นจะมีราคาถูกหรือแพง เช่น การที่เราตัดสินใจเสียเงิน 200 บาทขึ้นรถแท็กซี่แทนที่จะเสีย 13 บาทขึ้นรถประจำทางนั้น มีประโยชน์ต่อตนเองจริงหรือเปล่า หากนั่งแท๊กซี่แล้ว ตนเองมีเวลาทำจิตใจให้สงบและซักซ้อมบทสนทนาก่อนไปพบลูกค้า โอกาสที่ลูกค้าจะเซ็นสัญญากับบริษัทก็สูงขึ้น เงิน 200 บาทนั้นก็ถือเป็น “การลงทุน” ที่คุ้มค่า

?3. “เงิน” ยิ่งใช้ ยิ่งได้

คนธรรมดาจะมุ่งแต่จะเก็บเงินที่หามาให้ได้มากที่สุด หามาเท่าไรก็จะพยายามเก็บออมอย่างเดียว แต่คนญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินอย่างเดียว แต่รู้จักใช้เงิน (อย่างฉลาด) ด้วย พวกเขาจะมองว่า ตนควรจะ “ลงทุน” ไปกับอะไรดี จึงจะเกิดผลที่คุ้มค่าที่สุด

หนึ่งในการลงทุนที่คนญี่ปุ่นเห็นว่าคุ้มค่ามากนั้นคือ “การลงทุนกับตัวเอง”

จงใช้เงินเพื่อสร้างทักษะความรู้เพื่อตนเอง เช่น ไปลงคอร์สอบรมเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และนำกลับมาใช้กับองค์กร หรือเรียนคอร์สปรับบุคลิกภาพและวิธีการแต่งกาย เพื่อได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากลูกค้า

จงใช้เงินเพื่อสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง ไปทานข้าวกัน คุยกัน สนิทกัน อาจมีโอกาสที่เพื่อน ๆ เหล่านี้แนะนำงานต่อให้เรา

เงิน  หากใช้ (ลงทุน) อย่างถูกวิธี ก็จะวกกลับมาหาผู้ใช้คนนั้นอีก

?4. คำพูดเรียกเงิน

ยิ่งก้าวไปในตำแหน่งสูงมาก มีฐานะมาก มีโอกาสที่จะได้รับคำชื่นชม สรรเสริญจากคนรอบ ๆ ตัวมาก ใคร ๆ ก็เรียกท่านคะ ท่านครับ มีแต่คนคอยดูแลเอาใจ พอเคยตัวมาก ๆ ก็จะเกิดเมฆหมอกบังตาว่า “ข้าเก่ง ข้าเจ๋งที่สุด” สุดท้าย อาจประมาท และตัดสินใจอะไรผิดพลาดไปก็ได้

เพราะฉะนั้น บริษัทญี่ปุ่นหลาย ๆ แห่งจะมีนโยบายให้ผู้บริหารระดับสูงไปเก็บขยะหรือขัดห้องน้ำร่วมกับพนักงานคนอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการฝึกผู้บริหารไม่ให้ลืมตน ไม่ให้ลืมความยากลำบากของพนักงานที่อยู่ระดับล่าง และมองว่าตนเองก็เป็นพนักงานที่ต้องทำงานเพื่อองค์กรเหมือนกัน

สิ่งหนึ่งที่ผู้ประสบความสำเร็จทุกคนมี คือ “การรู้จักขอบคุณผู้อื่น” การไม่ลืมบุญคุณผู้อื่น การสังเกตและแสดงความรู้สึกซาบซึ้งสิ่งที่ผู้อื่นทำ แม้จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ

จงอย่าลืม “คำขอบคุณ” อย่าลืมว่าความสำเร็จของเราไม่ได้เกิดจากความสามารถของเราเพียงแค่คนเดียว หันไปมองคนรอบ ๆ พยายามนึกว่าใครช่วยให้เราประสบความสำเร็จในแต่ละชิ้นงาน และกล่าวชื่นชมขอบคุณพวกเขาอย่างจริงใจ

การแสดงความรู้สึกขอบคุณ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด การ์ดขอบคุณ หรือสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ จะทำให้ผู้ที่เราทำงานด้วยรู้สึกดีใจ และภูมิใจในตัวพวกเขาเอง พวกเขาพร้อมที่จะช่วยเหลือและทำงานเพื่อองค์กรต่อไป

เครดิต เกตุวดี Marumura