? รากฐานทางการเงินที่แข็งแรง เป็นคานผ่อนแรงที่มั่นคง ?

adminpersonalfin

? รากฐานทางการเงินที่แข็งแรง เป็นคานผ่อนแรงที่มั่นคง ?

เรามักจะเคยได้ยินหลาย ๆ คนพูดว่า จะรวยได้ต้องเป็นนายตัวเอง หรือมีกิจการของตัวเองนั่นแหละค่ะ แต่จริง ๆ แล้วมันก็ไม่แน่เสมอไป และการเป็นพนักงานงานประจำก็มีข้อดีมากมายนะคะ เช่น งานประจำทำให้มีเครดิตไปกู้ซื้อบ้าน มีเงินผ่อนบ้าน มีเงินส่งให้ที่บ้าน มีเงินออม มีเงินลงทุน มีเงินใส่ซองงานแต่ง งานบวช งานศพ งานทอดกฐิน ฯลฯ
และงานประจำยังให้มากกว่าเงินคือ ให้สังคมที่กว้างขวาง เพราะเราต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในที่ทำงาน ทั้งในแผนก ต่างแผนก และนอกที่ทำงาน และคนส่วนใหญ่ของประเทศก็เป็นมนุษย์เงินเดือน และเครือข่ายของมนุษย์งานประจำนี่แหละ ที่คอยเกื้อหนุนและสนับสนุนคุณเวลาคุณหารายได้เสริมและต้องการคนซัพพอร์ต

บทความนี้จะพูดถึงรากฐานทางการเงินที่แข็งแรงว่ามันมีตัวช่วยอะไรบ้างที่จะเป็น “คานผ่อนแรง” ให้เราตั้งตัวได้เร็วขึ้น เพราะเมื่อตั้งตัวได้แล้ว มันจะมี ‘แรงส่ง’ ไปสู่จุดที่ดียิ่งกว่า

5 ข้อจากนี้ไปจะเป็นแนวทางให้ได้เลือกไปลองทำดู .. ไปกันเลยค่ะ

? 1. ทำความเข้าใจและใช้งาน “สวัสดิการบริษัท” ให้คุ้มในสิทธิ์

บริษัทไหนก็ตามที่มีสวัสดิการที่ชื่อ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” (PVD) ให้ใช้สิทธิ์นั้นอย่างเต็มความสามารถ กฎหมายกำหนดให้เราสามารถออมได้สูงสุด 15% ของเงินเดือนและต่ำสุดที่ 2% ของเงินเดือน นอกจากเงินที่คุณสะสมไว้แล้วบริษัทจะเติมให้เราอีกส่วนหนึ่งแบบฟรี ๆ ..หมายความว่าเงินส่วนที่เติมมา คือเงินที่เรา “ได้เปล่า” จากบริษัทค่ะ ดังนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น เช่น ถ้าบริษัทเติมให้ 3,000 แปลว่าคุณได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเดือนละ 3,000 วันนี้ไปเช็คดูว่าคุณสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกี่เปอร์เซ็นต์

ยิ่งเปอร์เซ็นต์การออมมากและเริ่มทำเร็วเท่าไหร่ “เงินสะสม” และ “เงินสมทบ” จะยิ่งมาก (คุณพระ! นี่ยังไม่รวมดอกผลที่ได้จากการเอาเงินสองก้อนนี้ไปบริหาร โดย บลจ.) เพราะส่วนใหญ่แล้ว อายุงาน และตำแหน่งงาน มักเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการใส่เงินสมทบของบริษัท (เงินที่บริษัทเติมให้ฟรี ๆ) ซึ่งโดยทั่วไปบริษัทมักจะสมทบมากขึ้นล้อไปกับอายุงานและตำแหน่งงาน (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท)

? 2. ศึกษา “วิชาการเงิน” และลงมือปฏิบัติ

ได้แก่ วิชาการออม วิชาการลงทุน และวิชาหนีหนี้

  • วิชาการออมที่ทำและได้ผลคือการเก็บก่อนใช้แบบอัตโนมัติ อาจจะเริ่มต้นจากเดือนละหลักร้อยหรือหลักพันขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคน ออมหุ้น ออมทองคำ หรือออมกองทุนรวม แล้วแต่ ยิ่งเงินเดือนน้อยยิ่งต้องเริ่มออม การออมคือการสะสม ดังนั้น การสะสมต้องการเวลาที่นานพอ ใครออมก่อนย่อมได้เปรียบกว่า (ยังไม่นับรวม ดอกผลจากการออมอีกนะ)
  • วิชาการลงทุน ถ้าเป็นวิชาที่พนักงานประจำอย่างเราต้องศึกษาและเรียนรู้เพื่อจะได้นำเงินออมก้อนเล็ก ๆ ที่เรามีไปต่อยอดให้เป็นเงินก้อนใหญ่มากขึ้น ศึกษาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ความเสี่ยง และผลตอบแทน จากนั้นลองเลือกที่เหมาะกับจริตเรา

และ – วิชาที่สามวิชาหนีหนี้ ใครที่พลาดพลั้งไปแล้วชีวิตยังมีทางออกถ้านึกไม่ออกแนะนำให้ไปอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือวิชาหนีหนี้เขียนโดยทีมงานล่ำซำ เล่มนั้นจะบอกว่าคุณควรจะแก้ไขชีวิตที่หนี้ท่วมหัวได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ดีก่อนก่อหนี้ควร “ถามตัวเองจริง ๆ จัง ๆ” ก่อนว่าจำเป็นกับชีวิตของเรามากแค่ไหน เป็นหนี้แล้วเราต้องผ่อนไปกี่เดือน กี่ปี และของที่ผ่อนมาหรือเงินก้อนที่ได้มาก จะสร้างประโยชน์ตอบแทนให้เราได้มากแค่ไหน หรือเพียงแค่สุขใจไปตามกระแสสังคมเท่านั้น

? 3. สร้างคอนเน็คชั่น

ตลอดเส้นทางของการทำงานประจำ ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป ทั้งหมดคือคอนเน็คชั่นหรือเครือข่ายทางสังคมที่เงินซื้อมาไม่ได้ แต่มันได้จากการสะสมประสบการณ์ของเราบวกกับระยะเวลา เครือข่ายทางสังคมเหล่านี้จะเป็นจุดเชื่อมต่อของชีวิต ไม่วันใดก็วันหนึ่ง สำหรับพนักงานประจำอย่างเรา ๆ นั้น ให้มองว่าในสักวันหนึ่ง (มาถึงแน่นอน) เมื่อวันที่ถึงจุดที่เราต้อง “เปลี่ยนกระถาง” มีสองทางคือ 1.คุณหากระถางใหม่ กับ 2.มีคนเสนอกระถางใหม่ให้คุณ จริง ๆ แล้วก็ทำได้ทั้งสองแบบแต่การมีเครือข่ายทางสังคมที่ดี เราไม่ควรมองข้าม แต่มันต้องใช้เวลาและใช้ใจนะ ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คน

? 4. ต้องสร้างแบรนด์ของตัวเอง

ทุกอย่างที่เราทำคือ “แบรนด์” เราสื่อสารออกไปอย่างไร เช่น พัฒนาตัวเองตลอด หรืออยู่กับที่ใช้ชีวิตแบบนี้ก็สนุกดีแล้ว กิน เที่ยว โซเชี่ยลมาก่อน จะอย่างไรก็แล้วแต่ “ทุกอย่างคือแบรนด์” และแบรนด์นี้เป็นอย่างไร ก็จะนำมาซึ่ง value หรือคุณค่าในแบรนด์นั้น ๆ (ต่อหน้าที่การงานและการเงิน) คำถามคือวันนี้เราสร้างแบรนด์ตัวเองอย่างไร อย่างเช่น เมื่อถึงวันหนึ่งที่เราอยากจะเปลี่ยนงาน ฝ่ายบุคคลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเค้าจะสอบถามกันนะคะว่า คนคนนี้เป็นคนอย่างไร สืบชื่อเสียงเรียงนามของแบรนด์ตัวคุณจากคนรอบข้าง ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างคือ ‘ร่องรอยทางสังคม’

และข้อสุดท้าย คือ

  1. ตระหนักถึงข้อได้เปรียบความแน่นอนของมนุษย์เงินเดือน

เพื่อน ๆ อยากออมเดือนละเท่าไหร่ อยากลงทุนเดือนละเท่าไหร่ อยากให้แม่ใช้เดือนละเท่าไหร่ มันวิเศษมากที่เรื่องเหล่านี้ ซึ่ง “เราจัดสรรเงินเองได้ และมีความแน่นอน” เพราะทุกวันที่ 28,30 หรือ วันที่ 3,4,5 ของเดือนถัดไป เงินเดือนก็เข้าอัตโนมัติแล้ว นี่คือข้อได้เปรียบของมนุษย์เงินเดือนเมื่อเทียบกับอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ และเป็นข้อได้เปรียบที่ดีมาก เพราะทุกสิ้นเดือนเราจัดสรรอะไรต่าง ๆ ได้แบบอัตโนมัติ บนความแน่นอนของรายรับต่อเดือน

ประการต่อมาคือ เราเป็นคนมีเครดิต เพราะสลิปเงินเดือนนำไปเป็นหลักฐานในการขยายความสามารถในการใช้เงินในอนาคตได้นี่คือข้อได้เปรียบ แต่ย่อมมีพลาดพลั้งบ้างที่เราใช้เครดิตเกินตัวจนทำให้ข้อได้เปรียบนี้กลายเป็นดาบสองคมที่กลับมาทำร้ายตัวเรา แทนที่เราจะใช้เครดิตเป็นโอกาสในการกู้มาเพื่อใช้ประโยชน์ แต่ใช้ไปเพื่อสนองความอยากที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หากเจอแบบนี้ ก็ต้องรีบสะสางเพื่อจะได้ “เริ่มตั้งหลัก” กันใหม่ค่ะ

ทุกอาชีพมีคุณค่าต่อโลกใบนี้ “เงิน” คือส่วนประกอบหนึ่ง “แต่จำเป็นมาก” เพราะเราอยู่ในโลกทุนนิยม ดังนั้น หากเราตั้งตัวได้ไว ปากท้องอิ่ม คนที่บ้านอิ่ม เมื่อนั้นเราจะเริ่มมีความรู้สึก “อยากแบ่งปัน” และมันจะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น.. สู้ ๆ นะคะ ✌️

Original by “well-wisher”