8 วิธีออมเงิน แบบชิลๆ ?
พูดถึงคำว่า ออมเงิน เราคงจำคำสอนของพ่อแม่ได้นะคะ ว่ามีเงินก็ต้องเก็บออม ได้ค่าขนมก็ใช้ให้เหลือเก็บกลับมาหยอดใส่กระปุกออมสิน ตอนเด็ก ๆ ก็พอจะทำได้บ้างอยู่หรอก แต่พอโตขึ้นรู้สึกว่าการออมเงินแม้แต่จำนวนสักเพียงนิดจากเงินเดือน ทำไมถึงทำยากขนาดนี้…?
มีคนจำนวนมากที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการวางแผนจัดการเงิน ทำให้เราไม่มีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือน เผลอ ๆ กลับมีหนี้บัตรเครดิตจนคนรอบข้างเอือมก็มีนะคะ
การออมเงิน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องยากค่ะ เรามาดูวิธีการออมเงินง่ายๆ 8 วิธี ที่จะช่วยให้คุณออมเงินได้อย่างชิล ๆ กันค่ะ
1. ออมวันละ 20 บาท ??
เงิน 20 บาท ฟังดูน้อยมากเลยใช่ไหมคะ แล้วแบบนี้จะออมเงินเป็นก้อนได้จริง ๆ หรอ? บอกเลยว่าอย่าดูถูกธนบัตรใบน้อยนะคะ หากคุณทำติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 เดือน (วันหยุดก็อย่าหยุดออมนะคะ) คุณจะมีเงินออมถึง 600 บาท แล้วถ้าออมติดต่อกัน 1 ปี คุณจะมีเงินออมถึง 7,300 บาทเลยล่ะ! (ห้ามแกะเงินออกมาใช้ล่ะ!)
สำหรับคนที่มองว่า ยังไงก็น้อยไปอยู่ดี อาจจะเปลี่ยนจาก 20 บาทเป็นออมวันละ 50 บาท หรือ 100 บาทก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ การสร้างนิสัยการออมเงินอย่างสม่ำเสมอ และการสร้างวินัยการออมเงินของตนเอง
2. มีสลึง พึงบรรจบ ให้ครบบาท … ?
หากวันนี้เราไปทำงาน ไม่ว่าใช้เงินยังไงหากเราไม่พยายามจะใช้ให้หมดก็จะต้องได้เศษเงินทอน ได้เหรียญกลับมาบ้านแน่นอน จริงไหมคะ ก็ออมเหรียญนี่ล่ะค่ะ ได้มาเท่าไหร่ ก็เก็บใส่กระปุก อย่าเอาออกมาใช้ อาจจะใช้ขวดน้ำ กระป๋องอาหารล้างแล้วเจาะรูหยอดเหรียญ ทำเป็นกระปุกออมสินแบบแนว ๆ ก็ได้ค่ะ “well-wisher” แนะนำให้ใช้ขวดน้ำ หรือพาชนะใสๆ เพราะเราหยอดทุกวัน ๆ เห็นจำนวนเหรียญมันเพิ่มขึ้น ๆ เป็นกำลังใจให้เราออมต่อไปได้ค่ะ
3. แบ่งเงินใส่ถุง??
ให้คุณลองสังเกตตัวเองดูว่า เฉลี่ยแล้วในแต่ละวันเสียเงินไปประมาณกี่บาท บวกเงินเข้าไปอีกนิดหน่อยเผื่อมีอะไรฉุกเฉิน หาตัวเลขกลม ๆ ไว้ แล้วให้นำเงินมาใส่ถุงเพื่อใช้ในแต่ละวัน เช่น หากคุณใช้เงินวันละไม่เกิน 200 บาท ก็อาจจะใส่ซองไว้ 250 บาท เป็นจำนวนซองเท่าจำนวนวันในเดือนนั้น จากนั้นก่อนออกไปทำงานก็หยิบซองเงินมาหนึ่งซอง การทำอย่างนี้จะช่วยให้คุณใช้เงินในจำนวนจำกัด ที่เหลือจะได้ออมหมด และฝึกให้คุณวางแผนจัดการเงินในมืออย่างมีคุณค่ามากที่สุดด้วยค่ะ
4. กินแค่ 150 ถ้าเกิน ต้องหยอดกระปุกตามที่เกิน ??
กำหนดเลยว่า ภายในหนึ่งวัน คุณต้องใช้เงินไปกับค่าอาหารแค่ประมาณ 150 บาทเท่านั้น หากเกินกว่านี้ เช่น คุณจ่ายค่าอาหารไป 200 บาทวันนี้ แสดงว่าคุณต้องหยอดกระปุกเป็นเงิน 50 บาท วิธีนี้นอกจากจะได้จำกัดงบประมาณตนเองในการเลือกซื้ออาหาร ยังได้ออมเงินเพิ่มอีกนิด ๆ ด้วย แบบนี้เงินเก็บเยอะแน่นอนค่ะ
5. มีหลาย ๆ กระปุก ??
สำหรับวิธีนี้ ง่าย ๆ เลยก็คือ ให้หากระปุกมาหลาย ๆ กระปุก จากนั้นก็เขียนแปะลงไปบนแต่ละกระปุกเลยว่า อันนี้เก็บไปจ่ายอะไร เช่น ค่ารองเท้าทำงานคู่ใหม่ ค่าทริปไปต่างประเทศ เป็นต้น การทำอย่างนี้จะช่วยให้กำลังใจให้คุณในการออมเงินเพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่าง คุณอาจนำวิธีออมเงินอื่น ๆ มาประยุกต์ใช้กับวิธีนี้ด้วยก็ได้ ถึงเวลาที่จะต้องใช้เงิน ก็แคะกระปุกมานับดูค่ะ
6. หักเศษเงินเดือน ??
สมมุติ คุณได้เงินเดือน 14,570 บาท ก็ลองเอา 570 บาทที่เป็นเศษออกมาเก็บไว้ เท่านี้ก็ได้รู้แล้วว่า อย่างน้อย ๆ เนี่ย เดือนนี้ฉันมีเงินเก็บ 570 บาทแล้วนะ ง่าย ๆ เลยใช่ไหมล่ะ นี่ยังไม่รวมกับการใช้วิธีอื่น ๆ ในการออมเงินอีกนะเนี่ย
7. เจอแบงค์ใหม่ อย่าใช้ ??
ถ้าคุณได้ธนบัตรใหม่ที่ใบยังสวย ๆ เหมือนกับยังไม่เคยผ่านมือใครมาก่อน ให้คุณเก็บไว้เลย ซึ่งคุณอาจถามกลับว่า ถ้าไปกดเงินมา หรือไปธนาคารแล้วได้ธนบัตรใหม่มาทั้งหมดเลย แต่ต้องกินต้องใช้นี่? ก็ถ้าเป็นธนบัตร 1,000 หรือ 500 บาท ยังไงก็ต้องนำไปใช้แหละเนอะ แต่ถ้าเจอธนบัตรย่อย ๆ อย่าง 100 หรือ 50 บาท อย่างนี้อย่าใช้ รีบเก็บเลย
8. ออม 10% จากเงินที่ได้ ??
พ่อค้าแม่ค้า เงินที่ได้มามักจะไม่ค่อยได้เก็บเพราะเอาไปหมุนเงินซื้อของเพื่อนำมาขายต่ออีกเรื่อย ๆ มีเงินในบัญชีหรือในมือเมื่อไรก็เอาไปลงกับการซื้อของหมด ดังนั้น ลองใช้วิธี ออม 10% จากเงินที่ได้ในแต่ละวัน เช่น วันนี้ขายของได้ 5,000 บาท ก็ให้หยอดลงกระปุก 500 บาท วันไหนขายได้มากก็มีเงินออมมาก วันไหนขายได้น้อยก็มีเงินออมน้อย แต่ที่สำคัญคือเรามีเงินออมทุกวันนะคะ
สำหรับผู้ที่ทำงานรับเงินเดือน เราก็สามารถทำวิธีนี้ได้เหมือนกัน คือเก็บเงินจากเงินเดือน แบ่งออกมา 10% ทุกเดือน ๆ แล้วฝากธนาคาร โดยเราจะต้องไม่นำเงินส่วนนี้ออกมาใช้เลย หากเราได้เงินเดือนละ 15,000 บาทก็เก็บเดือนละ 1,500 บาท เป็นต้น สิ้นปีที มาตรวจสอบบัญชีอีกทีอาจจะมีมากกว่าที่เราคิดก็ได้นะคะ
การออมเงินจริง ๆ แล้วเราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการออมเพียงแค่วันละนิดวันละหน่อย โดยเน้นที่การสร้างนิสัย และวินัยในการออมเงิน ออมวันละนิดก็ยังดีกว่ามัวแต่นั่งคิดว่าออมไม่ไหวนะคะ ลองนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันกันนะคะ ได้ผลยังไง มีวิธีดี ๆ ใหม่ ๆ ได้ผลยังไงมาเล่าสู่กันฟังในคอมเม้นได้เลยค่ะ ?