3 นิสัยสร้างวินัยใหม่ให้การออม ?
“เอาไว้มีเงินเดือนมากกว่านี้ก่อนแล้วค่อยเริ่มออมเงิน”
“เอาไว้โบนัสออกก่อนแล้วค่อยเริ่มออมเงิน”
“เอาไว้หนี้สินลดลงหรือหมดหนี้สินก่อนแล้วค่อยออมเงิน”
ประโยคเหล่านี้อาจจะเคยเกิดขึ้นกับใครหลาย ๆ คน
แล้วจะเกิดเป็นคำถามต่อมาว่า “เมื่อไหร่กันละ”
หลายครั้งที่เรามักจะประวิงเวลาการออมเงินเพราะมองว่าต้องมีเงินให้มากกว่านี้ถึงจะเริ่มออมเงิน หรือไว้หมดภาระหนี้สินก่อนถึงจะเริ่มออมเงิน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรามักจะผัดวันประกันพรุ่งมาเรื่อย ๆ เมื่อได้รับเงินเดือนมากขึ้นก็อ้างกับตนเองว่าตอนนี้มีรายจ่ายเยอะ จะออมตอนนี้ไม่ได้หรอก เดี๋ยวรอให้เงินเพิ่มขึ้นอีกนิดถึงจะเริ่มออม สุดท้ายแม้ว่าจะได้รับเงินสูงขึ้นก็ยังไม่เริ่มออมเสียที
ตัวอย่างการออมเงินกับจำนวนเงินที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน เห็นได้จากข้อมูลในสื่อต่าง ๆ เช่น นักบอลชื่อดังถูกฟ้องล้มละลาย อดีตนักมวยยอดฝีมือค่าตัวสูง ช่วงสุดท้ายของชีวิตมีหนี้สินล้นพ้นตัว ดารายอดนิยมในอดีตเป็นโรคร้ายทำให้ต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมากจนครอบครัวแทบล้มละลาย ฯลฯ หลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับคนดังในอดีตเหล่านี้ไม่ได้การันตีว่าการมีเงินมากแล้วจะสามารถรักษาทรัพย์สินไว้ได้
การออมเงินนั้นเป็นเรื่องของ “วินัย” ที่ควรทำทันทีไม่ว่าจะมีเงินมากหรือน้อย หากยังมีรายได้น้อยก็ออมน้อย พอรายได้มากขึ้นก็ควรออมมากขึ้นถึงจะถูกต้อง ถ้าเราต้องการจะปรับนิสัยเพื่อสร้างวินัยการออมเงินให้เกิดขึ้น วันนี้ “well-wisher” มีเทคนิคง่าย ๆ มาบอกค่ะ
1. สร้างนิสัยใหม่ให้ “ออมก่อนใช้” ?
มนุษย์เงินเดือนนั้นจะสามารถออมเงินได้อย่างสม่ำเสมอ ถ้าต้องการสร้างวินัยการออมนั้นทำได้ง่ายโดยการออมก่อนใช้ ปรับมุมคิดว่าเมื่อได้เงินเข้าบัญชีตอนสิ้นเดือนแล้ว ควรตัดอัตโนมัติเข้าบัญชีเงินออมทันที หลังจากนั้น เราก็จะใช้เงินที่เหลือแค่ใน “บัญชีใช้จ่าย” เท่านั้น
หรือถ้าใครเป็นคนชอบใช้เวลาว่างเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าเพื่อพักผ่อน ไปเดินเล่นเฉย ๆ ไม่คิดจะซื้อหรอกนะ แต่สุดท้ายมักแพ้ป้าย Sale ได้ของติดไม้ติดมือกลับมาทุกครั้ง ก็อาจจะปรับวิธีการใช้ชีวิตโดยเปลี่ยนที่พักผ่อนในห้างฯ เป็นสวนสาธารณะ เป็นจิตอาสาหรือใช้เวลาว่างไปเข้าอบรมสร้างความรู้ใหม่ ๆ เพื่อสร้างรายได้ก็เป็นวิธีการที่ดีทีเดียว
ส่วนประกอบที่สำคัญของการเริ่มต้น คือ หัวใจของเรา ? เมื่อมีความมุ่งมั่นที่จะต้องออมเงินให้ได้หรือต้องการประหยัดรายจ่าย วิธีการอื่น ๆ ที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายก็จะตามมาเอง
2. ทำทีละนิด ?
การปรับนิสัยเพื่อออมเงินนั้นจะต้องเริ่มทำทีละนิด เพื่อให้ความรู้สึกเราค่อย ๆ ชินกับการออมเงิน โดยอาจจะเริ่มที่การออมเงิน 10% ของรายได้ แล้วดูว่าพฤติกรรมการใช้เงินของเราเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง เมื่อปรับได้และเคยชินกับการออมเงินระดับนี้แล้วก็ค่อย ๆ เพิ่มเปอร์เซ็นต์ของเงินออมขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็น 15% เป็น 20% ซึ่งก็แล้วแต่เราจะปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตนเอง
3. ทำอย่างต่อเนื่อง ?
ข้อนี้เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างวินัยการออมเงิน เพราะการออมไม่ควรทำแล้วหยุด ทำแล้วหยุด เพราะสุดท้ายเราจะหยุดทำไปจริง ๆ แต่ควรทำ ทำ ทำ…และทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้กลายเป็นนิสัยและหลอมรวมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ คล้าย ๆ กับการสมัครฟิตเนสเพื่อไปออกกำลังกาย ช่วงแรก ๆ ก็มีแรงฮึกเหิมอยากจะไป แต่พอมาช่วงหลัง ๆ งานเยอะก็เริ่มขี้เกียจ สุดท้ายก็ไปออกกำลังกายจริง ๆ เพียงไม่กี่ครั้ง ไม่คุ้มกับค่าสมัครสมาชิกที่เสียไป
ถ้าเริ่มต้นใหม่ตั้งใจทำอย่างจริงจังไว้ว่า “วันนี้ฉันจะต้องไปออกกำลังกาย!” แล้วทำต่อเนื่องกันประมาณ 1 เดือน หากมีวันไหนที่เราไม่ได้ไปออกกำลังกาย ความรู้สึกเราจะเริ่มแปลก ๆ ว่าเหมือนวันนี้เราลืมทำอะไรไป ในขณะที่บางคนอาจจะหงุดหงิดที่ไม่ได้ไปออกกำลังกาย การออมเงินก็เช่นกัน เราจะเริ่มรู้สึกว่าถ้าเดือนไหนลืมออมเงินหรือวันไหนลืมหยอดกระปุกออมสินแล้วรู้สึกว่าชีวิตจะไม่มั่นคง
“สร้างนิสัยใหม่ ทำทีละนิด ทำอย่างต่อเนื่อง” เพียงเท่านี้เราก็จะมีเงินออมได้ไม่ยาก เมื่อเรามีวินัยการออมในขณะที่มีรายได้น้อย แต่เราสามารถจัดการเงินออมและรายได้เป็นอย่างดี ในอนาคตเมื่อเรามีรายได้มากขึ้น เราก็จะสามารถจัดการเงินได้อย่างดีเช่นกัน เพราะเรารู้แล้วว่าจะดูแลเงินของเราอย่างไรให้มีใช้ไปตลอดชีวิต
“หัวใจสำคัญของการออมอยู่ที่วินัย ไม่ใช่จำนวนเงิน” ?