พระราชประวัติ รัชกาลที่ 10

adminsavings

วันนี้ “well-wisher” ขอนำเสนอพระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 (โดยย่อ) ตามนี้ค่ะ

?ทรงพระราชสมภพ
วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เมื่อเวลา 17 นาฬิกา 45 นาที ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ ตรงกับ วันจันทร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง จัตวาศก อธิกวาร จุลศักราช 1314 นับเป็นปีที่ 7 แห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
พระนามเมื่อแรกประสูติว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศö สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ปวงชนชาวไทยต่างปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามาภิไธย ตามจารึกพระสุพรรณบัฎว่า
“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

?การศึกษา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงได้รับการศึกษาระดับอนุบาลศึกษาที่พระที่นั่งอุดรภาค พระราชวังดุสิต และทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนจิตรลดา ระหว่าง พ.ศ. 2499-2505 ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษระหว่าง พ.ศ. 2509-2513 หลังจากนั้นได้ทรงศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
พ.ศ. 2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา หลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบกออสเตรเลีย ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี โดยมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์รับผิดชอบวางหลักสูตร ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2519

?การทหาร
สำหรับการศึกษาทางการทหาร พ.ศ. 2519 ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านการทหารในประเทศออสเตรเลีย และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย
นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกหลักสูตรประจำชุดที่ 5-6 ระหว่าง พ.ศ. 2520-2521 และทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต(เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2531 ครั้นถึง พ.ศ.2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักรด้วย

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากทรงรับการศึกษาทางด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงพระวิริยอุตสาหะในการเพิ่มพูนความรู้และพระประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านวิทยาการการบิน กล่าวคือ ระหว่างเดือนมกราคม ถึง ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติม และทรงศึกษางานทางการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนกระทรวงกลาโหม ทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ ที่นครเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาอาวุธพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง หลักสูตรส่งทางอากาศ
เดือนธันวาคม 2522–มกราคม 2523 ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ยูเอช–1 เอช และหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตี แบบ เอเอช–1 เอส คอบรา ของบริษัทเบลล์ นอกจากนั้นยังทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรต่างๆ ทางด้านการบินอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงเชี่ยวชาญการบินในระดับสูงมาก
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอด นับแต่เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2518 ทรงเข้าเป็นนายทหารประจำกรมข่าว ทหารบก กระทรวงกลาโหม

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2535 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด

และเนื่องด้วยทรงพระปรีชาชาญในวิทยาการด้านการบิน ทรงรอบรู้เทคนิคสมัยใหม่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เคยทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และทรงชนะเลิศการแข่งขัน เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2530 พระองค์ทรงมีชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องสูงมาก และถือว่าเป็นสิ่งที่ยากสำหรับนักบินทั่วโลกจะทำได้ พระองค์ทรงพระกรุณาปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่ แบบเอฟ–5 อี/เอฟ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2537 เป็นต้นมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของกองทัพไทย และปวงชนชาวไทย
และในปีพ.ศ. 2558 มีกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นั่นคือเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม มีกิจกรรม Bike for Mom-ปั่นเพื่อแม่ กิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558 โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นการร่วมแสดงออกของประชาชนถึงความรักที่มีต่อแม่และแม่ของแผ่นดิน เพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติอย่างทั่วถึง และเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ที่จะร่วมกันจัดกิจกรรมถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในการร่วมออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ปลูกฝังให้ประชาชนรักการออกกำลังกาย และเสริมสร้างความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา อีกทั้งได้นำกิจกรรมดังกล่าวไปต่อยอดขยายผลต่อไป
หลังจากนั้น วันที่ 11 ธันวาคม 2558 มีกิจกรรม ปั่นเพื่อพ่อ Bike for Dad เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 และทรงนำขบวนพสกนิกรผู้เข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติฯ โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชปณิธานที่จะจัดกิจกรรมจักรยานถวายพระเกียรติ และถวายความจงรักภักดีเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร่วมกับพสกนิกรชาวไทย เพื่อถวายเป็นราชสดุดี โดยทรงเป็นประธานนำขบวนในวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดี กตัญญูกตเวทิตาต่อพระมหากษัตริย์ ทรงร่วมเทิดพระคุณพ่อและเพื่อความสามัคคีของชาวไทยทั้งชาติ