ฝึกลูกรักเป็นนักออม

adminsavings

? สร้างลูกรักให้เป็นนักออม กับ 5 step ง่าย ๆ ?

            ถึงเวลาแล้วที่เด็กตัวน้อยต้องมารับบทบาทเป็นผู้บริหารธนาคารส่วนตัว การเรียนรู้ภาคปฏิบัติเรื่องการออมเงินเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ ผู้ปกครองมีหน้าที่สอนให้หนูน้อยรักการออม รู้จักเก็บ รู้จักใช้ รู้จักคุณค่าของเงินด้วย 5 step ง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

? Step ที่ 1 : สอนลูกรักจัดสรรปันส่วน

            ต้องคุยกับหนูน้อยถึงประโยชน์และสิ่งดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นหากหนู ๆ รู้จักออมเงิน เช่น เล่านิทานที่ปลุกและสร้างแรงบันดาลใจซึ่งมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการออมสักเรื่อง เพื่อสร้างบรรยากาศเรียนรู้อย่างตรงใจ และให้หนูน้อยตั้งเป้าหมายของภารกิจออมเงินในครั้งนี้ เช่น ถามลูกว่าเขาอยากเก็บออมเงินเพื่ออะไรหรือให้คำแนะนำในการจัดสรรก้อนเงินออม

? Step ที่ 2 :  D.I.Y. Money Box ฝีมือลูกรัก

     D.I.Y. Money Box เตรียมหาอุปกรณ์ที่มีอยู่ในบ้านมาแปลงร่าง เช่น กระปุกออมสินจากกล่องนม จากเปเปอร์มาเช่ต์ จากขวดโหล เป็นต้น จำนวน 3 กระปุก โดยแต่ละกระปุกมีข้อความชัดเจน คือ เรื่องเรียนของหนู ค่าใช้จ่ายจำเป็น และของขวัญชิ้นพิเศษ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เด็ก ๆ เก็บเงินหยอดกระปุกอย่างมีเป้าหมายเป็นรูปธรรม

? Step ที่ 3 : ฝึกลูกรักทำบัญชีรายรับรายจ่าย

            สร้างตารางทำบัญชีรับจ่ายเงิน ให้เด็ก ๆ จดบันทึกเงินที่ได้รับและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ใช้ในแต่ละวัน เด็ก ๆ จะได้ตรวจตราตัวเองว่าใช้เงินไปเยอะเท่าไหร่แล้ว และวางแผนควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างไร อาจใช้สมุดเล่มเล็ก ๆ ลายที่ชอบ จะได้พกพาไปได้ทุกที่ ใช้จ่ายเมื่อไหร่จะได้จดทันที ไม่ลืมค่ะ

? Step ที่ 4 : เปิดบัญชีธนาคารให้ลูกรัก

            วางเป้าหมายร่วมกันกับลูกว่าเมื่อเจ้ากระปุกออมสินอ้วนพีเต็มทุกกระปุกแล้ว เราจะนำเงินออมนี้ไปฝากธนาคารกัน เมื่อวันนั้นมาถึงสร้างความภาคภูมิใจให้กับลูกเพื่อเตรียมตัวไปธนาคาร ทั้งนับเงิน ข้อมูลการฝากเงิน ข้อมูลธนาคาร เป็นต้น

            เมื่อไปถึงก็ให้นักออมตัวน้อยได้มีส่วนร่วมในการฝากเงินทุกขั้นตอน…เมื่อถึงขั้นตอนสุดท้ายลูกอาจได้รับของที่ระลึกในการเปิดบัญชี เช่น สมุดภาพระบายสี กล่องดินสอ สร้างความรู้สึกประทับใจกับภารกิจครั้งนี้อีกด้วยค่ะ

            กระปุกเต็มครั้งใดอย่าลืมพาลูกแวะมาธนาคารนะคะ…ให้เป็นเรื่องปฏิบัติที่สร้างความคุ้นชินค่ะ

? Step ที่ 5 : ถามความรู้สึกของลูกรักที่มีต่อการออม

            ไต่ถามลูกเป็นระยะ ในขณะที่พวกเขากำลังปฏิบัติภารกิจออมเงินว่าเด็ก ๆ รู้สึกอย่างไรบ้าง สนุกเพลิดเพลินและได้เรียนรู้คุณค่าของเงินเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือเมื่อพวกเขาสามารถเก็บเงินซื้อของที่พวกเขาอยากได้สำเร็จแล้ว พูดคุยถึงความสำเร็จในครั้งนั้น จะยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงที่มาของเงินซึ่งเขาเป็นผู้เก็บออม สร้างความภาคภูมิใจในตัวเองและเห็นคุณค่าของสิ่งของแต่ละชิ้นค่ะ

            เคล็ดลับที่สำคัญของการสร้างลูกรักให้เป็นนักออมใน 5 ขั้นตอนนี้ อยู่ที่ความต่อเนื่องและความสม่ำเสมอของ คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูนะคะ ทั้งติดตามผล ให้คำแนะนำ และให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภารกิจการออมเป็นกิจวัตรประจำวัน…สร้างลูกให้รักการออมตั้งแต่วัยเด็กค่ะ ?