👩🔧 ‘สูตรการออมเงิน’ เพื่อรองรับการใช้จ่ายในทุกช่วงชีวิตสำหรับทุกอาชีพ 👩🏭
อาชีพอย่างเราควรมีเงินออมกี่บาท?
เงินออมควรแบ่งเป็นกี่ก้อน?
เงินออมระยะสั้น กลาง ยาว คืออะไร?
เงินออมก้อนแรกควรมีกี่บาท?
ต้องทำยังไงถึงจะออมได้ และเพียงพอกับทุกช่วงจังหวะชีวิต?
ในยามคับขัน เงินออมคือฮีโร่ที่ขี่ม้าขาวมาช่วยให้เรามีกินมีใช้ ช่วยประคองตัวให้ผ่านช่วงเวลาที่เราขาดรายได้ได้เสมอ วันนี้ “well-wisher” ขอนำเสนอบทความจาก TMB ที่จะชวนเพื่อน ๆ ทุกคนมาออมเงินไปด้วยกัน มาดูกันว่าวิธีการออมเงินแบบไหนที่จะช่วยให้เรารอดจากสิ่งที่ไม่คาดคิดได้ทุกสถานการณ์
🕯️1. เงินออมฉุกเฉิน (เงินออมระยะสั้น) คือก้อนแรกที่ต้องมี
เงินออมก้อนนี้สำคัญมาก ๆ ไม่ว่าจะในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันหรือช่วงเวลาไหน เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเงินออมสำหรับสถานการณ์ ‘ฉุกเฉิน’ แล้ว แปลว่าเราไม่มีทางคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรในชีวิตตอนไหน ไม่ใช่แค่เฉพาะการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ แต่รวมถึงทุกเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างอื่นด้วย อย่างเช่นตอนนี้ที่อยู่ดี ๆ ก็มีเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโคโรน่า(COVID-19) ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก ทำให้เงินรายได้ลดลง การใช้ชีวิตเปลี่ยน รายจ่ายเพื่อสิ่งของจำเป็น เช่น เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย การเตรียมค่าอาหารและของใช้สำหรับช่วงเก็บตัวอยู่ที่บ้าน หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายกรณีต้องการทำประกัน ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งหากเราไม่มีเงินออมติดตัวเลยเราย่อมเดือดร้อน ดังนั้นหน้าที่ของเงินก้อนนี้และตัวเราคือการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือเมื่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่จะมาถึง เพราะฉะนั้นเงินออมในส่วนนี้จึงควรเป็นเป้าหมายในการออมก้อนแรกที่ทุกคนควรทำให้สำรเร็จ เพื่อให้เราสามารถพยุงตัวก้าวผ่านได้ทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด
เงินออมฉุกเฉิน ออมเท่าไหร่ถึงรอด?
สัดส่วนการออมเงินในกระปุกนี้ของแต่ละคนมีจำนวนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในแต่ละอาชีพว่ามั่นคงแค่ไหน แต่อยู่ในสูตรคิดเดียวกันก็คือ
‘ค่าใช้จ่ายรายเดือน x จำนวนเดือนความเสี่ยง’
ยกตัวอย่างเช่น ใน 1 เดือน มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท สิ่งสำคัญต้องคิดค่าใช้จ่ายรวมให้หมด อย่าให้พลาด ตั้งแต่ ค่าบ้าน ค่าโทรศัพท์ ค่ารถ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่ากินอยู่ ค่าใช้จ่ายลูก ค่าส่งเสียทางบ้าน ฯลฯ
🚪2. เงินออมเพื่อความมั่นคง (เงินออมระยะกลาง) หรือเงินออมเพื่อสนอง Need
เมื่อเก็บเงินฉุกเฉินได้ตามเป้าหมายแล้ว ค่อยตั้งเป้าหมายในการออมเงินระยะกลาง หรือเงินก้อนที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต รวมทั้งสิ่งที่เราอยากได้ ในระยะเวลา 2-10 ปีที่กำลังจะมาถึง เช่น ซื้อบ้าน ผ่อนคอนโด ผ่อนรถ เก็บเงินแต่งงาน เก็บเงินสำหรับการท่องเที่ยวประจำปี กระทั่งเก็บเงินเพื่อทำธุรกิจ
แน่นอนว่าความต้องการของเราในการซื้อสิ่งต่าง ๆ จะมีมามากมายเต็มไปหมด แต่สิ่งที่ควรโฟกัสก็คือการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนตามลำดับความสำคัญ ว่าสิ่งไหนควรซื้อก่อนหลัง และเรามีความสามารถในการจ่ายเงินในระยะ 2- 10 ปีนั้นหรือไม่ เงินออมประเภทนี้ควรเก็บไว้ในบัญชีฝากประจำ หรือการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ
🤶 3. เงินออมวัยเกษียณ (เงินออมระยะยาว) เงินก้อนที่ไม่เร่งด่วนแต่สำคัญ
หลังจากจัดการเงินออมระยะกลางอยู่ตัวแล้ว ควรให้ความสำคัญกับเงินออมระยะยาว สำหรับระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เงินออมประเภทนี้หลายคนอาจมองข้ามเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่จริงแล้วเป็นเงินออมก้อนที่สำคัญไม่แพ้ 2 ก้อนแรก เพื่อนำมาเป็นเงินทุนไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ ที่แม้เราจะไม่มีรายได้จากการทำงานแต่ก็ยังมีเงินก้อนนี้ไว้ใช้จ่าย ดูแลทั้งค่ากินอยู่ ค่ารักษาพยาบาล รวมไปถึงยังสามารถรวมเป็นงบการท่องเที่ยวพักผ่อนได้อีกด้วย การมีเงินออมก้อนนี้ไว้ทำให้เราอุ่นใจได้ว่าในอนาคตจะใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไม่ขัดสน เงินออมประเภทนี้สามารถเก็บได้ในรูปแบบของบัญชีเงินฝากประจำ และรูปแบบการลงทุนระยะยาว เนื่องจากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
สำหรับใครที่กำลังเริ่มต้นออมเงิน การเริ่มออมเงินฉุกเฉินในวันนี้ยังไม่ช้าเกินไป เพื่อนำมาสู่เป้าหมายออมเงินระยะกลางและระยะยาวตามมา โดยสามารถเลือกใช้วิธีการออมที่เหมาะสมกับแต่ละคนได้เลย สิ่งสำคัญคือต้องทำได้จริง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือไว้ในวันที่สิ่งที่ไม่คาดฝันมาถึง เราจะได้เอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์
เครดิต : TMB