? ปลูกฝังการออมได้ตั้งแต่เด็ก ?

Tavatchai Engsavings

? ปลูกฝังการออมได้ตั้งแต่เด็ก ?

ในฐานะพ่อแม่ มีหลายทักษะชีวิตที่เราต้องสอนลูกก่อนพวกเขาออกไปเผชิญโลกกว้างเพียงลำพัง ซึ่งหนึ่งในหลาย ๆ ทักษะนั้นคือเรื่องของการเงิน บ่อยครั้งที่พ่อแม่อาจคิดว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องใกล้ตัว และเด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ได้เองจากชีวิตประจำวัน แต่จริง ๆ แล้วเรื่องเงิน ไม่ได้มีแค่เรื่องการใช้จ่าย แต่ยังรวมถึงการออม การกำหนดงบประมาณ การวางแผน การหารายได้ การจ่ายบิล ฯลฯ ดังนั้น หากพ่อแม่ผู้ปกครองค่อย ๆ ปูรากฐานทักษะทางการเงินให้ลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็ย่อมเป็นประโยชน์กับลูกเมื่อพวกเขาโตขึ้นได้

? 1. เรื่องเงินทองต้องมีวินัย

เด็ก ๆ อาจบริหารการเงินของตัวเองไม่ได้เลย หากพวกเขาไม่มีวินัยในการใช้ชีวิต ดังนั้นก่อนจะสอนเรื่องเงินกับลูก สิ่งที่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องวางรากฐานให้สำเร็จก่อนคือเรื่องของวินัยในชีวิตประจำวัน เด็ก ๆ ควรดูแลตนเองได้เบื้องต้น รับผิดชอบกิจวัตรของตนเองได้ รู้เวลาตื่นนอน เข้านอน ทำการบ้าน อ่านหนังสือ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไช ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็ก ๆ หากลูกมีวินัยในการใช้ชีวิต การสอนให้ลูกบริหารจัดการเรื่องเงินให้ประสบความสำเร็จ ก็ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ

? 2. กำหนดค่าขนมให้ชัดเจน

การกำหนดว่าเด็ก ๆ จะได้รับค่าขนมเป็นรายวัน รายสัปดาห์หรือรายเดือน ครั้งละเท่าไร ช่วยให้พวกเขาสามารถวางแผนการใช้เงินล่วงหน้าได้ สำหรับลูกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น อาจเปลี่ยนจากค่าขนม เป็นการให้เงินเดือน ซึ่งเป็นรายได้ประจำที่รวมถึงค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าจิปาถะ ฯ เพื่อให้ลูกได้ฝึกบริหารการเงินเบื้องต้น หากเด็ก ๆ มีเงินเหลือในแต่ละเดือน อาจแนะนำให้ลูกนำไปฝากธนาคารเป็นเงินออมไว้ใช้เมื่อจำเป็น หรือหากลูกต้องการซื้อของที่มีราคาแพง ลองให้พวกเขาออมจากเงินเดือนแต่ละเดือน เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องค่าของเงิน

? 3. การเปิดบัญชีธนาคารให้ลูก

เป็นวิธีเริ่มต้นปลูกฝังเรื่องการออมอย่างง่ายที่สุดค่ะ เริ่มทำได้ตั้งแต่ลูกอยู่ในวัยประถม โดยพาลูกไปเปิดบัญชีด้วยกัน อธิบายให้ลูกฟังว่า การออมเงินในธนาคารมีขั้นตอนอย่างไร อาจกำหนดวันที่แน่นอนในแต่ละเดือนเพื่อนำเงินไปฝาก แนะนำให้ลูกออมเงินที่เหลือจากค่าขนม เมื่อมีมากพอก็นำไปฝากเข้าบัญชี ให้ลูกสังเกตยอดเงินที่เพิ่มขึ้นในสมุดบัญชี เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น อาจให้ถือบัตรเอทีเอ็ม เพื่อลองควบคุมรายรับรายจ่ายของตัวเอง หรืออาจเปิดอีกบัญชีหนึ่ง เป็นเงินค่าขนมรายเดือนที่พ่อแม่โอนให้ เพื่อฝึกลูกจัดการการใช้เงินด้วยตัวเอง

⛽ 4. สอนลูกเรื่องการจ่ายบิล

แต่ละเดือนทุกครอบครัวย่อมมีรายจ่ายประจำทั้ง ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เด็ก ๆ อาจเคยเห็นพ่อแม่ทำหน้าที่นี้แบบผ่าน ๆ แต่หากคุณเปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วม พวกเขาก็จะเข้าใจว่ารายได้ที่พ่อแม่หามาต้องนำมาแบ่งจ่ายอะไรบ้าง คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกวัยรุ่น ช่วยรับผิดชอบการดูยอดบิลค่าน้ำ ค่าไฟแต่ละเดือน ทำบันทึกลงสมุด รวมทั้งจดวันที่ครบกำหนดจ่าย เมื่อใกล้ถึงวัน เด็ก ๆ ก็มีหน้าที่แจ้งให้พ่อแม่ทราบ เพื่อทำการจ่ายเงิน หรือหากเชื่อว่าลูกสามารถรับผิดชอบได้ ก็อาจโอนเงินเพื่อให้ลูกทำหน้าที่จ่ายบิลในส่วนนี้แทน เด็ก ๆ ที่มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องการจ่ายบิลขณะอยู่กับพ่อแม่ จะทำให้เขาเห็นภาพว่าการดูแลตนเองเมื่อเป็นผู้ใหญ่นั้น มีภาระอะไรบ้าง ทำให้พวกเขาสามารถเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับวันข้างหน้าได้ดีกว่าเด็กที่ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน

?️ 5. สอนลูกเรื่องการลงทุน

การลงทุนมีหลายรูปแบบ และการฝากเงินในธนาคารก็เป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง เมื่อมีโอกาสอาจคุยกับลูกว่าเราสามารถใช้เงินลงทุนทางใดได้บ้าง เช่น เมื่อถึงกำหนดชำระเบี้ยประกันชีวิต อาจหยิบกรมธรรม์ประกันชีวิตมาให้ลูกดู และอธิบายว่าการทำประกันชีวิตให้ผลตอบแทนอย่างไร การเปิดบัญชีธนาคารมีประเภทใดบ้าง อาจให้ลูกเลือกเปิดบัญชีแบบฝากประจำ เพื่อฝึกนิสัยการออม และลงทุนอย่างง่าย ๆ หากลูกแสดงท่าทีสนใจ อาจอธิบายเพิ่มเติมถึงการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ทั้งหุ้น กองทุน ฯลฯ

? 6. สนับสนุนให้ลูกหารายได้พิเศษ

ช่วงปิดเทอม หากลูกมีความคิดอยากหารายได้พิเศษ พ่อแม่ควรสนับสนุน และให้คำแนะนำที่เหมาะสม ให้เกียรติ และเคารพงานที่ลูกเลือก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานร้านไอศกรีม ทำอาหารขาย ขายของออนไลน์ ขายเสื้อผ้ามือสองตามตลาดนัด ชื่นชมความคิดที่ลูกต้องการหารายได้ด้วยตัวเอง ให้กำลังใจเมื่อลูกพบอุปสรรค การที่เด็ก ๆ ได้ทำงานมีรายได้เป็นของตัวเอง ไม่เพียงสร้างความภาคภูมิใจ เสริมความมั่นใจ แต่เด็ก ๆ ยังได้เรียนรู้ทักษะชีวิตอื่น ๆ มากมายทั้งเรื่องการบริหารเวลา การติดต่อประสานงานกับผู้คน ทักษะการพูด การวางแผนคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับชีวิตในอนาคต

? 7. สอนลูกรู้จักคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม

สิ่งต่าง ๆ มีคุณค่าแท้ ซึ่งหมายถึงคุณค่าที่เกิดจากประโยชน์ใช้สอย และคุณค่าที่แต่ละคนให้กับสิ่งนั้น ๆ เช่น เสื้อผ้า คุณค่าแท้ของเสื้อผ้า คือปกปิดร่างกาย กันลม กันฝน กันแดด ซึ่งไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าไร เสื้อผ้าทุกตัวก็ทำหน้าที่นี้ได้ไม่ต่างกันนัก ส่วนคุณค่าเทียม คือ คุณค่าที่แต่ละคนมอบให้กับสิ่งต่าง ๆ เช่นบางคนอาจให้คุณค่าเสื้อตัวหนึ่งเพราะว่ามีราคาแพง ขณะที่อีกคนอาจให้ค่าเสื้อผ้าชุดหนึ่งเพราะเป็นชุดที่ชื่นชอบใส่สบาย แต่สุดท้ายแล้วคุณค่าแท้ของเสื้อผ้าก็มีไว้เพื่อปกปิดร่างกายไม่ต่างกัน ลูกอาจต้องการเสื้อผ้าตามเทรนด์แฟชั่น ซึ่งไม่ผิด ตราบเท่าที่สามารถบริหารจัดการไม่ให้กระทบรายจ่ายส่วนอื่น ๆ การสอนให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ มีคุณค่าแท้จริงตามประโยชน์ใช้สอย ช่วยป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ หลงไปตามโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งอาจเป็นกับดักให้ลูกใช้จ่ายเงินเกินตัวได้

Original by “well-wisher”