ทำอย่างไรให้ปลอดภัยจากแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์(ตอนที่ 1) 📞😲
กลโกงทางโทรศัพท์ 📲
ลักษณะกลโกง
มิจฉาชีพจะสุ่มเบอร์เพื่อโทรศัพท์ไปหาเหยื่อ และใช้ข้อความอัตโนมัติสร้างความตื่นเต้นหรือตกใจให้กับเหยื่อ บางครั้งก็แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ หลอกให้เหยื่อทำรายการที่ตู้เอทีเอ็มเป็นเมนูภาษาอังกฤษโดยแจ้งว่าทำเพื่อล้างรายการหนี้สิน หรืออาจหลอกให้เหยื่อไปโอนเงินให้หน่วยงานภาครัฐเพื่อตรวจสอบ ซึ่งมิจฉาชีพเหล่านี้จะอาศัยความกลัว ความโลภ และความรู้ไม่เท่าทันของเหยื่อ โดยข้ออ้างที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกเหยื่อมีดังนี้
1. บัญชีเงินฝากถูกอายัด/หนี้บัตรเครดิต 😲
ข้ออ้างที่มิจฉาชีพนิยมใช้มากที่สุด คือหลอกว่าเหยื่อถูกอายัดบัญชีเงินฝากและเป็นหนี้บัตรเครดิต เพราะเป็นเรื่องที่สามารถสร้างความตกใจและง่ายต่อการชักจูงเหยื่อให้โอนเงิน โดยมิจฉาชีพจะใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติแจ้งเหยื่อว่าจะอายัดบัญชีเงินฝากเนื่องจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น เป็นหนี้บัตรเครดิตหรือกระทำการผิดกฎหมาย โดยอาจมีเสียงอัตโนมัติ เช่น “คุณเป็นหนี้บัตรเครดิตกับทางธนาคาร กด 0 เพื่อติดต่อพนักงาน” เมื่อเหยื่อตกใจ ก็จะรีบต่อสายคุยกับมิจฉาชีพทันที หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะหลอกถามฐานะทางการเงินของเหยื่อ หากเหยื่อมีเงินจำนวนไม่มากนัก มิจฉาชีพจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม แต่หากเหยื่อมีเงินค่อนข้างมากจะหลอกให้ฝากเงินผ่านเครื่องฝากถอนอัตโนมัติ
2. บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน 🤔
เมื่อมิจฉาชีพหลอกถามข้อมูลจากเหยื่อแล้วพบว่าเหยื่อมีเงินในบัญชีเป็นจำนวนมาก จะหลอกเหยื่อต่อว่าบัญชีนั้น ๆ พัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือติดปัญหาการฟอกเงิน จึงขอให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดมาตรวจสอบ
3. เงินคืนภาษี 😶
ข้ออ้างคืนเงินภาษีจะถูกใช้ในช่วงที่มีการยื่นภาษีและมีการขอคืน โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า เหยื่อได้รับภาษีคืนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องยืนยันรายการและทำตามคำบอกที่ตู้เอทีเอ็ม แต่แท้จริงแล้วขั้นตอนที่มิจฉาชีพให้เหยื่อทำนั้นเป็นการโอนเงินให้กับมิจฉาชีพ
4. โชคดีรับรางวัลใหญ่ 😄
มิจฉาชีพจะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทหรือตัวแทนองค์กรต่าง ๆ แจ้งข่าวดีแก่เหยื่อว่า เหยื่อได้รับเงินรางวัลหรือของรางวัลที่มีมูลค่าสูง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ จะหลอกเหยื่อให้โอนเงินค่าภาษีให้
5.ข้อมูลส่วนตัวหาย 😎
ข้อมูลส่วนตัวหายเป็นข้ออ้างที่มิจฉาชีพใช้เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ โดยจะอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน เล่าเหตุการณ์ที่ทำให้ข้อมูลของลูกค้าสูญหาย เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม จึงขอให้เหยื่อแจ้งข้อมูลส่วนตัว เช่น วัน/เดือน/ปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการใช้บริการของเหยื่อ แต่แท้จริงแล้ว มิจฉาชีพจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการปลอมแปลงหรือใช้บริการทางการเงินในนามของเหยื่อ
6. โอนเงินผิด 😥
มิจฉาชีพจะใช้ข้ออ้างนี้เมื่อมีข้อมูลของเหยื่อค่อนข้างมากแล้ว โดยจะเริ่มจากโทรศัพท์ไปยังสถาบันการเงินที่เหยื่อใช้บริการ เพื่อเปิดใช้บริการขอสินเชื่อผ่านทางโทรศัพท์ เมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อ สถาบันการเงินจะโอนเงินสินเชื่อนั้นเข้าบัญชีเงินฝากของเหยื่อ หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปหาเหยื่ออ้างว่า ได้โอนเงินผิดเข้าบัญชีของเหยื่อ ขอให้โอนเงินคืน เมื่อเหยื่อตรวจสอบยอดเงินและพบว่ามีเงินโอนเข้ามาจริง จึงรีบโอนเงินนั้นไปให้มิจฉาชีพ โดยที่ไม่รู้ว่าเงินนั้นเป็นเงินสินเชื่อที่มิจฉาชีพโทรไปขอในนามของเหยื่อ