วางแผนบรรลุเป้าหมายยังไงให้ปัง สำเร็จหมด

Tavatchai Engothers

 

วางแผนอย่างไรให้ทำสำเร็จทุกเป้าหมายในปีนี้ ?

ทุกคนอยากมีเงินเก็บหลักแสนหลักล้าน เพื่อไปท่องเที่ยวไปทั่วโลก หรือมีเงินใช้ยามเกษียณแบบไม่ต้องเป็นภาระลูกหลานกันทั้งนั้นใช่ไหมล่ะคะ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความฝันเหล่านี้ต้องอาศัย “เงิน” เป็นปัจจัยหลัก แต่การที่เราจะมีเงินมากพอจะทำสิ่งต่าง ๆ อย่างที่ต้องการนั้น ส่วนมากแล้วก็ต้องมาควบคู่กับความสำเร็จในชีวิตการงานและการเงินก่อน วันนี้ “well-wisher” ขอแบ่งปันวิธีการวางแผนชีวิตการทำงานให้สำเร็จในปีนี้ โดยใช้หลัก SMART กันค่ะ

S – Specific (เฉพาะเจาะจง) ?

เป้าหมายที่ดีนั้นจะต้องถูกกำหนดไว้อย่างเฉพาะเจาะจง มีความชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น “ปีหน้าจะเพิ่มยอดขายให้มากกว่าปีนี้อย่างน้อย 10%” หรือ “ปีหน้าจะออมเงิน 20% ของเงินเดือน” แบบนี้เป็นต้น ซึ่งถ้าเรากำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ได้แล้ว การทำงานของเราก็จะชัดเจน สามารถวางแผนต่อได้ง่ายและดำเนินงานได้ราบรื่นมากยิ่งขึ้น

M – Measurable (การวัดผล) ?

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำต้องสามารถวัดผลออกมาได้ เมื่อเราวัดผลสรุปออกมาได้เราก็จะได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร หรือควรปรับเปลี่ยนแก้ไขตรงจุดไหนบ้าง และจะทำให้เห็นว่าเราก้าวหน้าไปถึงขั้นไหน และใกล้ถึงเป้าหมายแล้วหรือยัง เช่น ตั้งใจไว้ว่าจะพัฒนาภาษาอังกฤษของตัวเองด้วยการลงคอร์สเรียนหลังเลิกงาน ก็ต้องมีการวัดผลด้วยการสอบเลื่อนระดับภาษาอังกฤษให้สูงขึ้น เป็นต้น

A – Achievable (ความสำเร็จ) ?

เป้าหมายที่ตั้งไว้ควรเป็นเป้าหมายที่สามารถทำได้จริง ไม่ตั้งไว้สูงจนเกินไปหรือเป็นเป้าหมายที่ไม่มีวันเป็นไปได้ เพื่อให้ความสำเร็จอยู่ไม่ไกลเกินที่เราจะวางแผนและสามารถไขว่คว้าไว้ได้ โดยไม่ท้อถอย ถอดใจไปซะก่อนนั่นเองค่ะ

R – Relevant (สัมพันธ์กัน) ?

เป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นต้องมีความเป็นไปได้ มีความสมเหตุสมผลกับความเป็นจริง และเกี่ยวข้องกับการทำงานหรือสถานการณ์ที่คุณต้องเจอจริง ๆ ในแต่ละวัน เพื่อให้คุณเข้าใจและเข้าถึงมันได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายที่เป็นเรื่องไกลตัวจนยากเกินที่จะทำมันนะคะ

T – Time bound (ระยะเวลา) ⏰

ทุก ๆ อย่างที่เราทำควรจะตั้งกรอบของเวลาเอาไว้ เพื่อให้กระชับ ชัดเจนและแน่นอน ป้องกันการใช้เวลาที่นานเกินไป คุณควรรู้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไรจึงจะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักแบ่งออกเป็น เป้าหมายระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี), เป้าหมายระยะกลาง ( 1–10 ปี) และเป้าหมายระยะยาว (10 ปีขึ้นไป)
แต่ท้ายที่สุดแล้วการที่เรามีเป้าหมายชัดเจน แต่หากแผนการที่วางแผนไว้ไม่ตรงตามที่ตั้งไว้ นั้นหมายความว่าคุณกำลังหลุดไปจากเส้นทางที่ตั้งไว้ ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนแผน และเริ่มต้นวางแผนใหม่อีกครั้ง อย่าท้อใจแม้จะไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่ลองเปลี่ยนแผนใหม่แล้วเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นค่ะ